5 อันดับเทรนด์การค้าข้ามพรมแดนดึงดูดใจผู้บริโภคชาวจีนที่น่าจับตามอง
มหกรรมลดราคาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น มหกรรมช้อปปิ้งระดับโลก 11.11 หรือ Black Friday ล้วนมีความสำคัญมากขึ้นในปีนี้ในประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดการบริโภคที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะผู้บริโภคชาวจีนยังไม่สามารถซื้อสินค้าในต่างประเทศได้ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส พวกเขาจึงเริ่มเปลี่ยนไปใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซแทน
เราได้สืบเสาะหาข้อมูลและข้อมูลเชิงลึกที่ได้มาจากช่วงฤดูกาลที่คึกคักที่สุด และนี่คือสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากมหกรรมช้อปปื้งเหล่านั้น
ลำดับที่ 5 ‘เบบี้ขนยาว’ กำลังเป็นที่นิยม
เจ้าของสัตว์เลี้ยงในจีนเริ่มเห็นเพื่อนขนยาวเป็นสมาชิกในครอบครัว พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปทำให้แวดวงนี้มีชีวิตชีวามากขึ้น ตั้งแต่อาหารสัตว์เลี้ยงสุดหรูและ “กระบะทรายอัจฉริยะ” ไปจนถึงผลิตภัณฑ์เพื่อความงามสำหรับแมวและสุนัข
ในรายงานเดือนกันยายน Goldman Sachs ประเมินตลาดการดูแลสัตว์เลี้ยงของจีนในปี 2563 อยู่ที่สามหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ ยังคาดการณ์อัตราการเติบโตต่อปี (CAGR) ในการใช้จ่ายด้านอาหารสัตว์เลี้ยงอยู่ที่ 19% จนถึงปี 2573
ผลการวิจัยของธนาคารเพื่อการลงทุนสอดคล้องกับเทรนด์ที่เห็นบนแพลตฟอร์มของ อาลีบาบา ในช่วง Black Friday นี้ ร้าน Joyhood ใน ทีมอลล์ โกลบอล ซึ่งเป็นร้านขายอาหารสัตว์เลี้ยงหลายสายพันธุ์นั้น มียอดขายเพิ่มขึ้นสองเท่าจากปีที่แล้ว เช่นเดียวกับการเข้าชมร้านที่เพิ่มขึ้น 120% ร้าน Nulo จากเท็กซัสก็มียอดขายเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าของยอดขายเฉลี่ยรายวันเช่นกัน
ช่วง Black Friday ยอดขายขนมแบบฟรีซดรายและของขบเคี้ยวอื่น ๆ สำหรับแมวเพิ่มขึ้น 177% เมื่อเทียบปีต่อปีใน ทีมอลล์ โกลบอล
ลำดับที่ 4 อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ
ผู้บริโภควัยหนุ่มสาวกำลังทำให้อาหารเพื่อสุขภาพรุ่นใหม่ ๆ เป็นที่นิยม ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์เสริมความงามที่กินได้ไปจนถึงวิตามินกัมมี่และชุดอาหารเสริมเฉพาะบุคคล
ความกระตือรือร้นของคนรุ่นใหม่ในการกินอาหารเพื่อสุขภาพช่วยให้แบรนด์น้องใหม่เป็นที่นิยมในตลาดที่มีการแข่งขันสูง ตัวอย่างเช่น Youthit แบรนด์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพของออสเตรเลียมียอดขายเพิ่มขึ้นสามเท่าจากปีที่แล้วในช่วงมหกรรมช้อปปิ้ง ส่วนผสม Bilberry Complex ของทางแบรนด์ที่ช่วยดูแลสุขภาพดวงตานั้นได้รับความนิยมอย่างมาก โดยขายได้กว่า 70,000 ขวดภายในมหกรรมช้อปปิ้งดังกล่าว
ข้อมูลของตลาดชี้ว่า ในปีที่แล้ว ผู้บริโภคกว่า 30 ล้านคนซื้ออาหารเพื่อสุขภาพบน ทีมอลล์ โกลบอล ซึ่งเพิ่มขึ้น 30% จากปีก่อน จากข้อมูลของ iiMedia Research ยอดขายอาหารเพื่อสุขภาพและความงามในจีนเพิ่มขึ้น 12.4% เมื่อเทียบปีต่อปี โดยขึ้นมาอยู่ที่มากกว่า 250 พันล้านหยวนในปีที่แล้ว และคาดว่าจะแตะ 270 พันล้านหยวนก่อนสิ้นปี 2564
ลำดับที่ 3 ผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผมคือสกินแคร์รูปแบบใหม่
ประเทศจีนเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากสหรัฐอเมริกาในเรื่องของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม ผู้บริโภคชาวจีนกำลังพัฒนากฎเกณฑ์การดูแลเส้นผมที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยดูแลเส้นผมของพวกเขาเช่นเดียวกับการดูแลผิวหนัง ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ผู้เชี่ยวชาญเรียกว่า “Skinification” หรือการดูแลผมเหมือนดูแลผิวนั่นเอง
ด้วยแรงบันดาลใจจากเทรนด์นี้ แบรนด์ระดับโลกจึงผลิตแชมพูและครีมนวดคุณภาพสูงขึ้น ทุ่มลงทุนวิจัยเพื่อเพิ่มประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสของผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม ให้กลิ่นที่หอมและเนื้อครีมที่เข้มข้นยิ่งขึ้น
จากรายงานปี 2563 โดย ทีมอลล์ และบริษัทบิ๊กดาต้า CBNData พบว่า ปัจจุบัน ผู้คนจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ใช้ผลิตภัณฑ์ก่อนสระผมก่อนที่จะใช้แชมพูและครีมนวด ตามด้วยผลิตภัณฑ์ดูแลรักษาหนังศีรษะ ลงน้ำมัน เซรั่ม สารแต่งสี และผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผมอย่างพิถีพิถัน
ในช่วง 3 วันแรกของมหกรรม 11.11 มูลค่าสินค้ารวมที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ปลูกผมพุ่งขึ้นสูงถึง 127.6% ในหมู่นักช้อปรุ่นมิลเลนเนียลและ Gen Z เมื่อเทียบปีต่อปี ตามตัวเลขจากตลาดออนไลน์ของ อาลีบาบา
ลำดับที่ 2 ความงามจากส่วนผสม
กลุ่มคนที่สนใจในส่วนผสมของสกินแคร์หรือ “Skintellectuals” กำลังเติบโตในจีน ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้แบรนด์ความงามน้องใหม่ทั้งหลายที่ให้ความสำคัญกับส่วนผสมที่มีประสิทธิภาพสูง
ในรายงานของ ทีมอลล์ ที่เผยแพร่ในเดือนสิงหาคมชี้ว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 69% กล่าวว่า ประสิทธิภาพเป็นเหตุผลหลักในการซื้อเซรั่มบำรุงผิวหน้า ในขณะที่ 45% ระบุว่า ส่วนผสมเป็นปัจจัยในการตัดสินใจซื้อ
รายงานระบุว่า กรดซาลิไซลิก กรดอัลฟา-ไฮดรอกซี และกรดแมนเดลิก เป็นส่วนผสมที่ผู้บริโภคค้นหามากที่สุดสำหรับผลิตภัณฑ์ความงามที่นำเข้าในช่วงเดือนสิงหาคม ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ที่มีเรตินอลมียอดขายมากที่สุด
ลำดับที่ 1 Vintage in Vogue
โรคระบาดทำให้การจำหน่ายสินค้าฟุ่มเฟือยเพิ่มขึ้น หากมหกรรมช้อปปิ้ง 11.11 และ Black Friday เป็นตัวชี้วัด แนวโน้มเช่นนี้ก็จะยังคงดำเนินต่อไปในประเทศจีน
ผู้บริโภคมากกว่า 3 ล้านคนได้เลือกดูผลิตภัณฑ์ลักชัวรีจากต่างประเทศบน ทีมอลล์ โกลบอล ในมหกรรม 11.11 ซึ่งจากข้อมูลของ ทีมอลล์ โกลบอล เปิดเผยว่า นักช้อปสินค้าฟุ่มเฟือยส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงชนชั้นกลางและผู้บริโภควัย Gen Z
แบรนด์ญี่ปุ่น Daikokuya ใช้เทคโนโลยีการสตรีมไลฟ์สดในช่วง Black Friday เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์และรายละเอียดโดยตรงจากร้านค้าจริงในเมืองต่าง ๆ ของญี่ปุ่น เช่น โอซาก้า ชิบูย่า และชินจูกุ นอกจากนี้ ทีมอลล์ โกลบอล ยังจัดทำรายการสด เพื่อนำผู้บริโภคไปทัวร์ช้อปปิ้งเสมือนจริงไปยังร้านค้า Brand Off ในญี่ปุ่นอีกด้วย
แชร์
ก๊อปปี้ลิ้งค์