‘เศรษฐกิจดิจิทัล’ ช่วยสร้างพลังให้แก่ผู้ประกอบการหญิงได้อย่างไร?

เครดิตภาพ: Shutterstock

รายงานฉบับใหม่ที่เผยแพร่ในวันสตรีสากล ปี 2565 และจากประสบการณ์ตรงของเหล่าผู้ประกอบการหญิง พบว่า เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ช่วยเสริมสร้างพลังให้แก่ผู้หญิงในด้านเศรษฐกิจ และช่วยปูทางไปสู่ความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น

ตามรายงานดังกล่าว เศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์ม (Platform Economy) สร้างโอกาสการทำงานที่ยืดหยุ่นให้แก่ผู้หญิงที่อาจมีภาระครอบครัว เนื่องจากระบบอัตโนมัติต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานมนุษย์ช่วยลดอุปสรรคในการทำงานที่ในอดีตต้องอาศัยแรงงานทางกายภาพมากกว่าในปัจจุบัน

จากรายงานที่ตีพิมพ์โดยสหพันธ์สตรีแห่งประเทศจีน (All-China Women’s Federation’s – ACWF) และ AliResearch ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยภายในอาลีบาบานั้น ทำให้ทราบว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้หญิงจำนวนกว่า 57 ล้านคน ทำงานในเศรษฐกิจดิจิทัลของจีนตามข้อมูลจากแพลตฟอร์มภายในประเทศ ซึ่งธุรกิจเกือบครึ่งหนึ่งบนแพลตฟอร์มดิจิทัลของอาลีบาบานั้นดำเนินงานโดยผู้หญิง

แน่นอนว่า สำหรับผู้ประกอบการหญิงแล้ว ความท้าทายไม่ได้หายไปแต่อย่างใด จากรายงานของ The Web Foundation องค์กรที่ไม่แสวงหากำไรของสหรัฐฯ พบว่า ผู้ชายทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะอยู่บนโลกออนไลน์มากกว่าผู้หญิง 21% ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นถึง 52% ในประเทศที่มีรายได้ต่ำ ซึ่งอาจประมาณการได้ว่า ปราการชั้นสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงไม่มีโอกาสเข้ามาสู่โลกออนไลน์เป็นเพราะค่าอุปกรณ์และข้อมูลสูง ทักษะทางดิจิทัลที่ต่ำลง และบรรทัดฐานทางสังคมที่เข้มงวด เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้ประเทศที่กำลังพัฒนาต้องสูญเสียเม็ดเงินกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม บรรทัดฐานทางสังคมกำลังเปลี่ยนแปลงไป พร้อมกับโอกาสต่าง ๆ ที่กำลังเปิดกว้างขึ้น เพราะผู้หญิงกำลังไต่บันไดในอาชีพการงานที่สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยปูเส้นทางให้แก่ผู้หญิงคนอื่น ๆ ให้มีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา Lazada ได้ยกความสำเร็จของ 18 ผู้ประกอบการหญิง มานำเสนอในวันสตรีสากลปี 2565 ทำให้พบว่า พวกเขามีช่องทางการนำเสนอแนวคิดของตนเองอย่างสร้างสรรค์ อีกทั้งยังท้าทายบรรทัดฐานทางสังคม และประสบความสำเร็จในการขยายธุรกิจบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอีกด้วย

ผู้ประกอบการหญิง

ปัจจัยหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนช่องทางการทำธุรกิจของเหล่าผู้ประกอบการหญิงคือการที่ผู้หญิงมีพลังการซื้อและการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นแรงที่ช่วยส่งเสริมแบรนด์ที่เน้นย้ำความต้องการของผู้หญิงอย่างชัดเจน

Sweaty Betty แบรนด์เสื้อผ้าออกกำลังกายสำหรับผู้หญิงจากอังกฤษก่อตั้งขึ้นเมื่อ 22 ปีที่แล้ว ซึ่งในตอนนั้น ชุดกีฬาของผู้หญิงมักถูกแขวนไว้ที่ด้านหลังของร้านจำหน่ายอุปกรณ์กีฬาสำหรับผู้ชาย โดยผู้ก่อตั้งแบรนด์อย่าง Tamara และ Simon Hill-Norton ก็รู้สึกว่าชุดออกกกำลังกายสามารถสวยและใช้งานได้ดีในเวลาเดียวกัน

“ชุดออกกำลังกายคือสิ่งที่คุณมองว่าสำหรับผู้ชาย และแบรนด์ต่าง ๆ ก็แค่จะย่อขนาดชุดลงและทำให้เป็นสีชมพูสำหรับผู้หญิงเท่านั้น” Julia Straus CEO ของ Sweaty Betty กล่าว “ดังนั้น ภารกิจของเราคือการเพิ่มขีดความสามารถของผู้หญิงผ่านการออกกำลังกายและอื่น ๆ เพื่อทำให้รู้ว่าเราสามารถไปได้ไกลกว่านั้นมาก”

ในประเทศไทย การพูดถึงสุขอนามัยของผู้หญิงไม่ได้เป็นเพียงเรื่องต้องห้ามเท่านั้น แต่สินค้าที่เกี่ยวข้องยังมีราคาแพงอีกด้วย ทว่า คุณภัททิยา ธนศรีวนิชชัย ผู้ก่อตั้ง Happi Cup จัดหาซิลิโคนคุณภาพสูงจากประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อผลิตถ้วยอนามัย (Menstrual Cups) ที่โรงงานภายในประเทศ เธอใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มลาซาด้าเพื่อขยายธุรกิจและทำให้ลูกค้าชาวไทยซื้อสินค้าได้อย่างปลอดภัยและมีความเป็นส่วนตัว

ผู้บริโภคเพศหญิงในประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ก็มีอำนาจในตลาดเช่นกัน

Zarina Kanji หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจสำหรับแบรนด์ด้านสุขภาพ ความงาม อาหารและเครื่องดื่มของอาลีบาบา กล่าวว่า “เป็นเรื่องสำคัญอย่างมากที่แบรนด์ต่าง ๆ กำลังสำรวจความต้องการของผู้บริโภค Gen Z กลุ่มมิลเลนเนียล และลูกค้าเพศหญิงในจีน”

Kanji กล่าวว่า ที่ Tmall Global ซึ่งเป็นตลาดออนไลน์ข้ามพรมแดนที่ใหญ่ที่สุดของจีนนั้น ผู้บริโภคประมาณ 70% เป็นผู้หญิง โดย 85% ของผู้บริโภคเพศหญิงมีอายุต่ำกว่า 39 ปี และอีก 59% มีอายุต่ำกว่า 30 ปี

ความยืดหยุ่นทางดิจิทัล

เศรษฐกิจดิจิทัลทำให้การทำงานและภาระหน้าที่ในครอบครัวกลายเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น เพราะการทำธุรกิจออนไลน์จากที่บ้านและการที่ผู้หญิงเหล่านั้นสามารถกำหนดตารางเวลาชีวิตของตัวเองได้ทำให้ชีวิตของพวกเธอสะดวกขึ้น

“ความเท่าเทียมทางเพศและการพัฒนาด้านดิจิทัลนั้นผูกพันกันจนแยกไม่ออก” ธนาคารโลกระบุไว้ในเว็บไซต์เมื่อปีที่แล้ว

Kong Wai Theng เจ้าของธุรกิจวัย 44 ปีจากมาเลเซีย เริ่มต้นร้านค้าออนไลน์บนลาซาด้าในตอนที่อยู่ในช่วงที่ให้นมลูกคนที่สาม เธอทำงานจากที่บ้าน ฝึกฝนทักษะใหม่ ๆ ให้กับตัวเอง รวมไปถึงการตลาดบนโซเชียลมีเดียและการสร้างแบรนด์ กระทั่งเธอได้กลายเป็นผู้ขายอันดับต้น ๆ ในหมวดสุขภาพและความงามบนลาซาด้าในที่สุด

เถาเป่า ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มค้าปลีกระหว่างผู้บริโภคกับผู้บริโภคของอาลีบาบา มีจำนวนเจ้าของร้านที่เป็นผู้หญิงกว่า 23.58 ล้านคน ในปี 2562 ที่ผ่านมา

เศรษฐกิจดิจิทัล ส่งผลให้เกิดโมเดลธุรกิจที่เป็นทางเลือกอาชีพยอดนิยมสำหรับผู้หญิง เช่น การทำบล็อกหรือการเป็นนักรีวิวร้านอาหาร อีกทางเลือกหนึ่งที่ทันสมัยคือ อาชีพในฐานะอินฟลูเอนเซอร์ หรือ Key Opinion Leader (KOL) ที่มีอิทธิพลต่อความคิดเห็นของผู้บริโภค

นอกจากนี้ ไลฟ์สตรีมมิงมีความสำคัญเป็นอย่างมากในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพราะเป็นช่องทางให้ผู้ค้าปลีกยังคงสามารถเข้าถึงลูกค้าได้ ทั้งนี้ ผู้หญิงกว่า 11.25 ล้านคน ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการใช้การสตรีมสด บน เถาเป่า ไลฟ์ (Taobao Live) แพลตฟอร์มการสตรีมสดของอาลีบาบา เพื่อต่อยอดธุรกิจของพวกเธอ

ยิ่งไปกว่านั้น ระบบอัตโนมัติในงานที่ต้องการความสามารถทางกายภาพได้เปิดโอกาสให้ผู้หญิงมากขึ้นอีกด้วย

ไช่เหนียว เน็ตเวิร์ก (Cainiao Network) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านโลจิสติกส์ของ อาลีบาบา กรุ๊ป กล่าวว่า ทางหน่วยงานได้ร่วมมือกับธุรกิจที่ก่อตั้งโดยผู้หญิงมากกว่า 10,000 แห่ง เพื่อเปิดสถานีโพสต์ชุมชนอัจฉริยะเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งไซต์งานเหล่านี้ใช้เทคโนโลยีเพื่อทำให้การจัดการสินค้าคงคลัง การรวบรวมพัสดุ และการติดตามพัสดุแบบเรียลไทม์ไม่ลำบากสำหรับผู้ปฏิบัติงานอีกต่อไป

ในปี 2020 พนักงานส่งของหญิงจำนวนกว่า 55,900 คน ทำงานบนแพลตฟอร์มส่งอาหารของอาลีบาบา Ele.me ซึ่งแสดงให้เห็นว่า งานพาร์ทไทม์หรืองานระยะสั้นช่วยให้ชีวิตการทำงาน ชีวิตส่วนตัว และการใช้เวลากับที่บ้าน เกิดความสมดุลมากยิ่งขึ้น

Cainiao Ele.me Lazada Taobao Tmall Global ทีมอลล์ โกลบอล ผู้ประกอบการ ผู้ประกอบการหญิง ลาซาด้า เถาเป่า เศรษฐกิจดิจิทัล ไช่เหนียว