โตเกียว 2020 ปฏิวัติรูปแบบการถ่ายทอดสด และส่งผลต่อปักกิ่ง 2022 อย่างไร

นักกีฬาพูดคุยกับกองเชียร์ทางออนไลน์ ระหว่างกีฬาโอลิมปิก โตเกียว 2020 ภาพจาก ©2021-IOC-All rights reserved Tokyo 2020

พูดคุยกับผู้รับผิดชอบการถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ที่จัดขึ้นในขณะที่ทั่วโลกต้องประสบกับการระบาดของไวรัสโคโรน่า

โซติริส ซาลามูริส หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยี ประจำหน่วยบริการกระจายเสียงแพร่ภาพโอลิมปิก หรือ OBS ซึ่งเป็นองค์กรที่รับผิดชอบการเผยแพร่ภาพและเสียงในกีฬาโอลิมปิก ไปยังผู้ชมทั่วโลกกว่าพันล้านคน

ซาลามูริสควบคุมทีมวิศวกรและนักเทคนิคที่ออกแบบและสร้างแพลตฟอร์ม ที่ทำให้การถ่ายทอดสดกว่า 9,500 ชั่วโมงในระหว่างกีฬาโอลิมปิก โตเกียว 2020 เกิดขึ้นได้ องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ภารกิจนี้ประสบความสำเร็จ คือระบบบริการคลาวด์

อาลีบาบา คลาวด์ ซึ่งเป็นระบบคลาวด์คอมพิวติ้งในเครืออาลีบาบา กรุ๊ป ทำงานเป็นพันธมิตรกับ OBS ในการวางแผนการถ่ายทอดสดโตเกียว 2020 โดยอาศัยระบบคลาวด์

“เราเฟ้นหามุมที่ดีที่สุดในทุกสนามแข่งขัน การจะทำอย่างนั้นได้ เราจึงต้องเลือกใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงสุด” ซาลามูริส กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์ที่ศูนย์กระจายเสียงแพร่ภาพนานาชาติ หรือ IBC ที่เป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดสำหรับโตเกียว 2022

นอกจากนี้ ซาลามูริสยังรับผิดชอบการวางแผนในระยะกลางและระยะยาวของ OBS เพื่อปรับตามเทคโนโลยีใหม่ๆ

บทสัมภาษณ์ต่อไปนี้มีการปรับแต่งเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นและอ่านง่าย

คำถาม: ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของกีฬาโอลิมปิก โตเกียว 2020 เมื่อเทียบกับ ริโอ เกมส์ 2016 มีอะไรบ้าง

แน่นอนว่าคงหนีไม่พ้นการใช้บริการคลาวด์ การระบาดของโควิด-19 ทำให้บริษัทถ่ายทอดสดต้องประเมินศักยภาพในการผลิตและเผยแพร่ภาพ เพราะไม่สามารถเดินทางไปยังสถานที่ถ่ายทำได้เหมือนเมื่อก่อน

ในเวลาเพียง 2 สัปดาห์ OBS ทำหน้าที่ผลิตรายการแข่งขันกว่า 9,500 ชั่วโมงจากกีฬาโอลิมปิก โตเกียว 2020 ซึ่งเยอะกว่าเวลาทั้งหมดที่ใช้เผยแพร่รายการของสถานีโทรทัศน์หลักตลอด 1 ปี

เราได้รับผลตอบรับที่ดีว่าเป็นแพลตฟอร์มมีประสิทธิภาพและตรงตามความต้องการของ OBS

โซติริส ซาลามูริส เชื่อว่าเทคโนโลยีคลาวด์จะปฏิวัติวงการถ่ายทอดสด ภาพจาก ©2021-IOC-All rights reserved Tokyo 2020

คำถาม: ช่วยเล่าให้เราฟังเกี่ยวกับเบื้องหลังการทำงาน เพื่อที่จะได้เข้าใจกระบวนการเตรียมพร้อมด้านเทคนิคสำหรับกีฬาโอลิมปิกในครั้งนี้

การถ่ายทอดครั้งนี้เรียกได้ว่าเป็นเมกะโปรเจคต์ โดย OBS ใช้เจ้าหน้าที่มากกว่า 8,000 คนทำงานในการแข่งขันโอลิมปิกโดยเฉพาะ ในด้านผลิตวิดีโอ ควบคุมภาพและเสียง และรวบรวมข้อมูลต่างๆ

OBS เริ่มวางแผนสำหรับการถ่ายทอดครั้งนี้เป็นเวลามากกว่า 1 ปี ก่อนที่การแข่งขันจะเริ่มขึ้น จนระบบเริ่มลงตัวใกล้กับที่วันงานกำลังมาถึง 1 ปี ก่อนหน้าที่เราจะสร้างศูนย์กระจายเสียงแพร่ภาพนานาชาติสำเร็จ เราใช้พื้นที่กว่า 45,000 ตารางเมตร สำหรับการถ่ายทอดสดและใช้เป็นพื้นที่การทำงานของเจ้าหน้าที่ และผู้ที่ได้รับลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่ภาพการแข่งขัน

จำนวนพนักงานเพิ่มมากขึ้นเมื่อเราเริ่มวางระบบภายใน IBS และสถานที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดสด

เราได้รับการช่วยเหลือเป็นอย่างดีจากหลายฝ่าย

คำถาม: การระบาดของไวรัสโคโรน่าส่งผลกระทบกับกระบวนการนี้อย่างไร

การถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเป็นโครงการที่ท้าทายไม่ว่าจะในสถานการณ์ใด เพราะมีความคาดหวังสูง ทุกคนคาดหวังสัญญาณภาพที่เสถียร มีคุณภาพ และหลากหลาย ปริมาณข้อมูลในกีฬาโอลิมปิกมีมหาศาลจริงๆ ในแง่ของจำนวนวิดีโอฟีดและความจุของเครือข่ายที่จำเป็นต้องใช้

และสุดท้าย ผู้คนคาดหวังนวัตกรรมใหม่ๆ จากกีฬาโอลิมปิก ซึ่งนั่นอาจส่งผลต่อเรื่องความเสถียร

เทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่เคยเพียงพอต่อความต้องการใช้งาน เราอยากนำเทคโนโลยีมาใช้และแก้ไขปัญหาต่างๆ ในขณะเดียวกันเราต้องบริหารจัดการความคาดหวังต่างๆ ที่ขัดแย้งกันด้วย ซึ่งนับเป็นการเดิมพันที่สูงมาก

โรคระบาดทำให้เกิดความยากลำบากมากขึ้น

ข้อแรกคือทำให้การจัดงานต้องเลื่อนออกไป อันที่จริงการเลื่อนจัดงานไป 1 ปีฟังดูดีเพราะทำให้เรามีเวลาเตรียมตัวมากขึ้น แต่ในทางปฏิบัติไม่ใช่แบบนั้น มันทำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนโตเกียว 2020 ต้องเพิ่มความพยามมากขึ้น ตอนที่มีการประกาศในเดือนมีนาคม 2564 ว่าจะเลื่อนการจัดการแข่งขันออกไป เรามีเจ้าหน้าที่เกือบ 200 คนประจำการแล้วในโตเกียว เพื่อทำงานถ่ายทอดสดกีฬาโอลิมปิกในเดือนสิงหาคม 2564

ในตอนนั้นเราต้องหยุดโครงการไว้ และดูแลเจ้าหน้าที่ รวมถึงให้พวกเขาเดินทางกลับประเทศ และต้องไม่ลืมว่าหลังจากโตเกียว 2020 เราต้องเตรียมตัวทำงานในปักกิ่ง 2020 ซึ่งตามกำหนดเดิมเรามีเวลาเตรียมตัวหนึ่งปีครึ่งหลังโตเกียว 2020 แต่การเลื่อนการจัดงานทำให้มีเวลาเหลือแค่ไม่กี่เดือนก่อนที่เราจะเดินทางไปปักกิ่ง

โรคระบาดยังเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนทั่วโลก ซึ่งส่งผลต่อโครงการหลักเช่นกัน

ตัวอย่างเช่น การเดินทางระหว่างประเทศต้องมีอุปสรรค และสิ่งของต่างๆ ถูกตรวจเช็คต่างจากเดิม ซึ่งส่งผลต่อการขนส่งอุปกรณ์ของเราที่ต้องไปให้ทันตามเวลาที่กำหนดไว้

เราต้องใช้เจ้าหน้าที่มากกว่า 8,000 คนจาก 60 ประเทศในการถ่ายทอดสด และทุกคนต้องเดินทางมาที่โตเกียว ลองคิดดูว่าจะยุ่งยากมากแค่ไหน เพราะทุกคนต้องผ่านขั้นตอนตรวจคัดกรองโรค แต่เราก็ผ่านมันมาได้

สรุปคือการจะผ่านทุกอย่างมาได้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้ามีความตั้งใจและความคิดบวก เราสามารถทำหลายอย่างให้สำเร็จได้

ผู้ชมจากทั่วโลกมีส่วนร่วมในโตเกียว 20202 ผ่านโลกเวอร์ช่วล ภาพจาก ©2021-IOC-All rights reserved Tokyo 2020

คำถาม: การจัดงานครั้งนี้ไม่มีผู้เข้าชมในสนาม มีการเติมเต็มในส่วนนี้อย่างไร

การที่ผู้จัดงานในญี่ปุ่นตัดสินใจไม่ให้มีผู้เข้าชมในสนามทำให้บรรยากาศการแข่งขันดูแปลกไป เพราะนักกีฬาคาดหวังให้มีแฟนๆ คอยเชียร์ในระหว่างการแข่งขัน

เราชอบให้มีผู้ชมในสนามเพราะทำให้ภาพรวมการแข่งขันดูมีชีวิตชีวามากกว่า และยังเป็นส่วนสำคัญในการเล่าเรื่อง เพราะเราสามารถจับภาพปฏิกิริยาของผู้ชมในสนามได้

แต่จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เราเข้าใจและสนับสนุนการตัดสินใจดังกล่าว เราได้เร่งทำงานและทดลองเพื่อหาทางออกมาทดแทน โดยทำโครงการที่สร้างการมีส่วนร่วมของ ‘แฟนกีฬาแบบเวอร์ช่วล’ โดยใช้เทคโนโลยีที่นำปฏิกิริยาของผู้ชมจากทั่วโลกเข้ามาในผนวกภายในงาน โดยทำเป็นกระดานข้อความจากผู้ชมให้นักกีฬาได้อ่านเป็นกำลังใจ และยังทำให้ทุกคนที่อยากเดินทางมาร่วมงานในญี่ปุ่น ได้รู้สึกว่าพวกเขาได้ใกล้ชิดกับงานมากขึ้น

ผู้ชมสามารถมีส่วนร่วมได้ด้วยการเชียร์ ซึ่งจะเป็นจุดแสงขึ้นในแผนที่โลกด้วยเพื่อให้เห็นว่าเสียงเชียร์มาจากประเทศไหนบ้าง เรายังกระตุ้นให้ผู้ชมอัพโหลดวิดีโอที่พวกเขาถ่ายตัวเองขณะเชียร์กีฬา ซึ่งอาจจะยาวแค่ไม่กี่วินาที เพื่อนำมาโพสต์บนหน้าวอลล์ของวิดีโอจากแฟนทางบ้าน

หลังจบการแข่งขัน มีวิดีโอสั้นจากการถ่ายทอดสดวิดีโอคอลล์ของนักกีฬาระหว่างพูดคุยกับครอบครัวและเพื่อนมากกว่า 200 คลิป (จากข้อมูลของคณะกรรมโอลิมปิกสากล มีวิดีโอจากแฟนทั่วโลกที่อัพโหลดเข้ามามากกว่า 250 ล้านคลิป)

(อาลีบาบาสนับสนุนการมีส่วนร่วมผ่านโลกเวอร์ช่วลด้วยการจัดโครงการบนคลาวด์ อาลีบาบาเป็นพันธมิตรระดับโลกกีฬาโอลิปิก)

 

 

คำถาม: เทคโนโลยีช่วยส่งเสริมความเข้าใจกีฬาโอลิกปิกของผู้ชมอย่างไร

การถ่ายทอดสดด้วยเทคโนโลยีของเราเป็นทางที่เดียวที่จะบอกเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นในสนาม เราได้เพิ่มจำนวนกล้องแบบพิเศษเพื่อจับทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากทุกมุม

ทั้งหมดก็เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของการแข่งขัน ซึ่งการจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดเราต้องติดตั้งกล้องและไมโครโฟนให้ใกล้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

เรามีการติดเซนเซอร์บนตัวนักกีฬาโดยตรง หรือบนอุปกรณ์ที่พวกเขาใช้ เพื่อจับภาพเหตุการณ์ในหลากหลายมิติ เช่น การเร่ง ความเร็ว ความสูง และกำลัง จากนั้นจึงนำข้อมูลมาประมวลผลเพื่อนำเสนอให้ผู้ชมทางบ้านเห็นภาพได้

เรายังนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และการประมวลผลภาพมาใช้ ซึ่งมีข้อดีคือไม่เข้าไปรบกวนในการแข่งขัน

จากการร่วมมือกับอินเทลและอาลีบาบา เราได้นำเทคโนโลยีติดตามนักกีฬาแบบ 3 มิติ (3D Athlete Tracking) มาใช้เป็นครั้งแรก ซึ่งวิเคราะห์ข้อมูลการแข่งขันวิ่ง 100 และ 200 เมตรเพื่อจับสถิติต่างๆ เช่น ความเร็ว และการเร่ง

การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีทำให้สามารถถ่ายทอดสดภาพที่มีคุณภาพสูงขึ้น เช่น เราเปลี่ยนการผลิตสื่อทั้งหมดเป็นความละเอียดแบบ 4K ทำให้ได้ภาพที่มีสีสันและความสว่างที่มีชีวิตชีวามากกว่าเดิม คุณภาพของภาพยังใกล้เคียงกับภาพจริงมากขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เรายังถ่ายทอดสดกีฬาโอลิมปิกโดยใช้เสียงแบบรอบทิศทางเต็มรูปแบบเป็นครั้งแรก

เราพยามนำเสนอข้อมูลที่หลากหลายมากขึ้นผ่านเทคโนโลยีใหม่ๆ ศักยภาพของเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นในด้านความเร็วและคอนเทนต์ทำให้สามารถถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นในสนาม ไปยังหน้าจอของผู้ชมได้อย่างเต็มอิ่มและใกล้ชิดมากกว่าเดิม

คำถาม: มีอะไรที่ได้เรียนรู้จากโตเกียว 2020 และจะนำไปใช้ในปักกิ่ง 2022 บ้าง

อย่างแรกเลยคือนวัตกรรมไม่มีคำว่าสิ้นสุด เรามีหลายอย่างในใจที่อยากนำไปใช้ในปักกิ่ง 2022

หนึ่งในตัวอย่างที่ดีคือจะมีการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้มากขึ้น เพราะสภาพแวดล้อมในปักกิ่งเอื้อให้ทำได้ งานนี้ยังจัดขึ้นในบ้านเกิดของอาลีบาบา ทำให้เรามีขีดความสามารถในการประมวลผลข้อมูลมากขึ้นหลายเท่า และสามารถคิดโครงการที่นำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ได้มากขึ้น

เรามองนวัตกรรมเป็นสิ่งที่ดีมากๆ และสร้างคุณค่าให้กับงานใหญ่ๆ อย่างกีฬาโอลิมปิกได้

การถ่ายทอดสด กีฬาโอลิมปิก อาลีบาบา คลาวด์ โตเกียว 2020 โอลิมปิก