การปรับตัวและความร่วมมือ คือกุญแจสำคัญในการข้ามผ่านโควิด-19 ของสองผู้ประกอบการไทยที่เคยผ่านหลักสูตร eFounders

สุรสิทธิ์ สัจจะเดว์ ผู้ก่อตั้ง Hungry Hub และอานันท์ ประเสริฐรุ่งเรือง ผู้ร่วมก่อตั้ง AIRPORTELS

การระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจของเอสเอ็มอีโดยเฉพาะในภาคการบริการที่ยังไม่นำดิจิทัลมาใช้ แต่สองผู้ประการไทยที่เคยผ่านหลักสูตร eFounders อย่างสุรสิทธิ์ สัจจะเดว์ เจ้าของ Hungry Hub และอานันท์ ประเสริฐรุ่งเรือง ผู้ร่วมก่อตั้ง AIRPORTELS กลับไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคที่เกิดจากมาตรการล็อคดาวน์และการเว้นระยะห่างทางสังคม โดยทั้งสองนำความรู้ที่ได้รับจากการเข้าร่วมหลักสูตรฝึกอบรมของอาลีบาบา บิซิเนส สคูล มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของแรงบันดาลใจในการปรับตัว ซึ่งนับเป็นตัวอย่างที่เอสเอ็มอีไทยรายอื่นๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในภาวะวิกฤตเช่นนี้

สุรสิทธิ์และอานันท์ เคยเข้าร่วมหลักสูตร eFounders Fellowship รุ่นที่ 8 ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างอาลีบาบา บิซิเนส สคูล และอังค์ถัด (การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา) ในช่วงที่เกิดโควิด-19 ทั้งสองธุรกิจมีรายได้ลดลงเนื่องจากร้านอาหารและการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก ทั้งสุรสิทธิ์และอานันท์จึงเร่งปรับธุรกิจอย่างรวดเร็ว โดยหลังจากรัฐบาลประกาศมาตรการปิดประเทศเพียงไม่กี่สัปดาห์ ทั้งสองก็ร่วมมือกันสร้างทีมที่ให้บริการส่งอาหารถึงบ้านหรือฟู้ดเดลิเวอรี่ขึ้น ภายใต้ชื่อ Hungry Hub@Home การตัดสินใจเช่นนี้ไม่เพียงช่วยให้ธุรกิจอยู่รอดได้ในภาวะวิกฤต แต่ยังตอบโจทย์ของตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจากผู้บริโภคในประเทศไทย

AlibabaNews Thai ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้ประกอบการทั้งสองท่าน ที่เคยผ่านหลักสูตร eFounders เกี่ยวกับความร่วมมือและการปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้

ช่วยเล่าถึงธุรกิจของทั้งสองท่านว่าเคยทำอะไร และมาร่วมมือกันได้อย่างไร

สุรสิทธิ์: ผมเริ่มก่อตั้ง Hungry Hub ในปี 2557 จากการสร้างและพัฒนาระบบการจองโต๊ะร้านอาหาร และต่อมาพัฒนาเป็นการจำหน่ายดีลเป็นแบบบุฟเฟ่ต์ให้ลูกค้าสามารถจ่ายราคาเน็ตและทานได้ไม่จำกัด แต่จากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ร้านอาหารต่างๆ ไม่สามารถให้บริการแบบทานที่ร้านได้ จึงต้องหันมาทำบริการแบบเดลิเวอรี่ ซึ่งเป็นที่มาของการร่วมมือกับ AIRPORTELs ของคุณอานันท์ ที่มีประสบการณ์ในธุรกิจขนส่งกระเป๋าเดินทาง และเคยเข้าอบรมหลักสูตร eFounders รุ่นที่ 8 ด้วยกันมาก่อน

อานันท์: ผมเริ่มก่อตั้ง AIRPORTELs กับหุ้นส่วนในปี 2558 เพื่อให้บริการจัดส่งกระเป๋าไปยังสนามบิน โรงแรม และศูนย์การค้าที่เรามีเคาน์เตอร์ให้บริการอยู่ทั้งในกรุงเทพฯ ภูเก็ต พัทยา และกรุงโซล โดยเรามีเป้าหมายให้ทุกคนสามารถท่องเที่ยวได้อย่างสะดวกในทุกที่ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องของกระเป๋า แต่จากการระบาดของโควิด-19 ทำให้มีการปิดประเทศและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหยุดชะงัก เราจึงได้ร่วม Hungry Hub ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ เพื่อให้ธุรกิจและพนักงานของเราอยู่รอดได้ และลูกค้าได้รับบริการจัดส่งอาหารในราคาที่เป็นธรรม

Hungry Hub@Home แตกต่างจากบริการฟู้ดเดลิเวอรี่รายอื่นอย่างไร

สุรสิทธิ์: แตกต่างเพราะเราเปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถเลือกมิกซ์แอนด์แมทช์อาหารได้ในอารมณ์เดียวกับบุฟเฟ่ต์ และร้านอาหารที่มีให้เลือกหลากหลาย ที่สำคัญยังมีดีลและโปรโมชั่นที่หาจากที่อื่นไม่ได้นอกจากบน Hungry Hub ปัจจุบันเรามีร้านอาหารอยู่บนแพลทฟอร์มประมาณ 200 ร้าน

Hungry Hub@ Home เปิดตัวในช่วงโควิด-19 โดยเกิดจากความร่วมมือระหว่างทั้งสองธุรกิจที่เคยเข้าอบรมหลักสูตร eFounders (เครดิตภาพ: Hungry Hub)

การปรับตัวในช่วงในโควิดโควิด-19 เกิดขึ้นได้อย่างไร และปัจจุบันพอใจกับความก้าวหน้ามากแค่ไหน

สุรสิทธิ์: วิกฤตโควิด-19 ทำให้ธุรกิจต่างๆ ต้องปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงในสังคม เพราะการอยู่เฉยๆ รอให้สถานการณ์คลี่คลายย่อมไม่เป็นผลดีต่อทั้งพนักงาน บริษัท และสังคม ผมคิดว่าผู้ประกอบการควรปรับตัวให้ทันโลกยุคนี้ที่สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นรวดเร็วมากอย่างที่เราไม่เคยคิดมาก่อน เพื่อให้ธุรกิจมีทางออกและเราทุกคนก้าวต่อไปได้

วิกฤตครั้งนี้หนักหนากว่าหลายครั้งที่เราเคยเจอ และย่อมมีผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์อย่างแน่นอน ผมคิดว่าคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าผู้คนจะหันกลับมาทานอาหารนอกบ้านเหมือนเดิม ซึ่งเป็นสาเหตุที่เราคิดหาทางออกด้วยการทำฟู้ดเดลิเวอรี่ขึ้นมานั่นคือ Hungry Hub@Home ที่เป็นตัวอย่างของการปรับตัวสำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แม้ว่าตอนนี้เราจะยังใหม่กับตลาดนี้ และต้องเรียนรู้ความต้องการของผู้บริโภคอีกมาก แต่เราจะทำอย่างต่อเนื่องและคอยดูสถานการณ์เพื่อปรับกลยุทธ์อยู่เสมอ

อานันท์: สำหรับ AIRPORTELs ธุรกิจของเราพึ่งพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นหลักและมีลูกค้ากว่า 90% เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ ดังนั้นเมื่อการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยไม่สามารถทำได้เนื่องจากมีการปิดประเทศ ธุรกิจของเราจึงหยุดชะงักตามไปด้วย ส่วนเคาน์เตอร์ของเราในศูนย์การค้าก็ไม่สามารถเปิดได้เนื่องจากมาตรการควบคุมการระบาดของรัฐบาล ผมจึงตัดสินใจติดต่อกับคุณสุรสิทธ์ ที่เคยเข้าอบรมหลักสูตร eFounders มาด้วยกัน ว่าจะหาทางออกอย่างไรดี จนกลายเป็นไอเดียของฟู้ดเดลิเวอรี่ขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วการส่งอาหารมีความแตกต่างจากการขนส่งกระเป๋าเดินทางและสัมภาระ จึงถือเป็นทั้งความท้าทายและเป็นโอกาสที่เราจะได้ระดมความคิดเพื่อรับมือกับ ‘นิวนอร์มอล’ นี้

ปัจจุบันการให้บริการของเราเริ่มเข้าที่เข้าทางแล้ว โดยมีจำนวนรถยนต์และจักรยานยนต์ส่งอาหารมากกว่า 100 คัน เราทำงานร่วมกับ Hungry Hub ในการปรับปรุงระบบให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า โดย Hungry Hub จะดูแลในส่วนของการตลาด ส่วน AIRPORTELs ดูแลในส่วนของโลจิสติกส์และการจัดส่ง

หลักสูตร eFounders Fellowship มีส่วนอย่างไรต่อการปรับตัวของคุณในครั้งนี้

สุรสิทธิ์: หลักสูตร eFounders Fellowship สอนให้เรารู้จักการคิดนอกกรอบ การสร้างสรรค์ และประยุกต์สิ่งใหม่ๆ โดยเรียนรู้จากการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในจีนและใช้อาลีบาบาเป็นต้นแบบ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการนำเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปปรับใช้ในประเทศไทย แม้แต่ในช่วงที่เกิดโควิด-19 ทางหลักสูตรก็ยังมีการอัพเดทให้ทราบเป็นระยะว่าทางอาลีบาบาและธุรกิจในเศรษฐกิจดิจิทัลของอาลีบาบามีการปรับตัวเพื่อรับมือกับโรคระบาดอย่างไรบ้าง เพื่อให้เราสามารถนำไปประยุกต์ใช้

ก่อนเกิดโควิด-19 อาลีบาบาก็เคยมีประสบการณ์ในการรับมือกับโรคซาร์สระบาดมาแล้วในปี 2546 บทเรียนสำคัญที่เราได้เรียนรู้จากอาลีบาบาในครั้งนั้น คือบริษัทที่ประสบความสำเร็จควรมีวัฒนธรรมองค์กรและวิสัยทัศน์ที่พนักงานทุกคนยึดเป็นหลักในการทำงาน เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นเหมือนเป้าหมาย รวมทั้งต้องมีความคิดที่ยืดหยุ่นและไม่ยึดติด เพื่อพร้อมปรับตัวไปตามสถานการณ์ที่ธุรกิจต้องพบเจอ

อีกสิ่งหนึ่งที่เราได้รับจากหลักสูตรนี้ คือโอกาสทำความรู้จักและสร้างเครือข่ายกับผู้ประกอบการที่มีความคิดเชิงก้าวหน้าคล้ายๆ กัน พูดได้กว่า eFounders เป็นมากกว่าหลักสูตรฝึกอบรม แต่ยังเป็นชุมชนที่สร้างผู้ประกอบการมาแล้วมากมายผ่านการให้ข้อมูลเชิงลึกและสร้างโอกาสจากเศรษฐกิจดิจิทัลที่กำลังเติบโต ปัจจุบันเรายังติดต่อกับสมาชิกคนอื่นๆ เพื่อแบ่งปันสิ่งที่เจอและวิธีการทำงานในช่วงสถานการณ์โรคระบาด เพื่อร่วมกันหาทางออกใหม่ๆ

อานันท์: หลักสูตร eFounders Fellowship ทำให้เราได้เห็นเคสตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในจีน ซึ่งเป็นประเทศที่เศรษฐกิจดิจิทัลพัฒนาไปแบบก้าวกระโดด เมื่อไม่นานมานี้ผมได้เรียนรู้จากเรื่องราวของ หวู เกาปิง ที่ก่อตั้ง “Granma’s Home” ซึ่งเป็นร้านอาหารชื่อดังในจีน โดยหวูมีการปรับธุรกิจในช่วงที่เกิดโควิด-19 ระบาด ให้คล่องตัวมากขึ้น และเปลี่ยนจากการนั่งทานในร้านเป็นเดลิเวอรี่ ซึ่งกรณีศึกษาเหล่านี้เป็นแบบอย่างให้ผู้ประกอบการทั่วโลกได้เรียนรู้เพื่อความนำไปปรับใช้กับธุรกิจของตนเอง ที่สำคัญ eFounders ยังทำให้เราได้รู้จักและสร้างเครือข่ายกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่อาจนำไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ อย่างเช่นความร่วมมือระหว่าง Hungry Hub และ AIRPORTELs ที่เกิดขึ้น

ผู้ประกอบการในยุคนี้ต่างให้ความสำคัญกับเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม ธุรกิจของคุณมีการทำอะไรบ้างในช่วงที่เกิดโควิด-19

สุรสิทธิ์: ผมเชื่อว่าหลังสถานการณ์โควิด-19 ร้านอาหารต่างๆ จะมีบริการแบบเดลิเวอรี่ควบคู่กับการทานในร้านต่อไป แต่ปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่ามีแอปผู้ให้บริการส่งอาหารเพียง 3-4 รายในตลาดเท่านั้น ซึ่งหลายรายคิดคอมมิชชั่นสูงถึง 30-35% ซึ่งถือเป็นภาระที่หนักมากสำหรับร้านอาหาร จนร้านอาหารหลายรายอาจไม่สามารถอยู่รอดได้ แต่ Hungry Hub@Home เป็นรูปแบบที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้ทั้งร้านอาหารและลูกค้าได้รับประโยชน์แบบวิน-วิน เพราะเราคิดค่าคอมมิชชั่นเพียง 10% ที่เราทำได้เพราะเรามี basket size ที่ใหญ่มาชดเชย ส่วนค่าส่งเป็นการเฉลี่ยกันแบบ 50/50 อย่างยุติธรรมระหว่างร้านอาหารและลูกค้า ก่อนช่วงโควิด-19 เรามีร้านอาหารมากกว่า 200 ร้านบนแพลทฟอร์ม ซึ่งหลายร้านไม่เคยทำแบบเดลิเวอรี่มาก่อน เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้นมี 75 ร้านที่ตัดสินใจเข้าร่วมกับเราในทำแบบเดลิเวอรี่ และเราได้ขยายเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 150 ร้านในเดือนเมษายน ซึ่งช่วยให้ร้านเหล่านี้อยู่รอดได้ในช่วงที่เกิดโควิด-19 ระบาด

อานันท์: ในหลักสูตร eFounders Fellowship มีการพูดอยู่เสมอให้ผู้ประกอบการต้องไม่ลืมเรื่องความรับผิดชอบต่อเหลือสังคม เพราะธุรกิจจะไม่สามารถอยู่รอดได้ในระยะยาวถ้าเราไม่ให้ความสำคัญกับสังคม การปรับตัวของเราในช่วงที่โควิด-19 ช่วยสร้างงานให้กับคนส่งอาหาร ซึ่งหลายครั้งเราใช้บริการของรถแท็กซี่และตุ๊กตุ๊กซึ่งต้องขาดรายได้เนื่องจากไม่มีผู้โดยสารในระหว่างที่ทุกคนกักตัวอยู่บ้าน

ธุรกิจของคุณถือว่ามีการนำดิจิทัลมาใช้แล้ว คุณจะมีคำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการอื่นๆ อย่างไรในการปรับตัวไปสู่ดิจิทัล โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดโรคระบาดแบบนี้

สุรสิทธิ์: ในช่วงวิกฤตผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้เร็ว เพราะถ้าธุรกิจของคุณอยู่รอด พนักงานของคุณก็อยู่ได้เหมือนกัน ในช่วงที่เกิดโรคระบาดทำให้เรารู้ว่าการเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัลมีความสำคัญ เพราะการทำธุรกิจผ่านออนไลน์ทำให้เราสามารถนำข้อมูลและเทคโนโลยีมาใช้ประเมินและปรับแผนธุรกิจได้ และสามารถวิเคราะห์ความต้องการและเข้าถึงลูกค้าได้มากกว่าช่องทางออฟไลน์ เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ระดับฐานราก จนคุณสามารถทำธุรกิจและสร้างโอกาสใหม่ๆ ได้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

อานันท์: ผมเห็นด้วยกับคุณสุรสิทธ์ในเรื่องความสำคัญของการเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัล เพราะเทคโนโลยีดิจิทัลช่วยแก้ปัญหาของข้อจำกัดในการทำธุรกิจแบบเดิม ที่สำคัญโลกดิจิทัลยังเปิดโอกาสอย่างเท่าเทียมกันสำหรับผู้เล่นทุกระดับ ซึ่งในส่วนนี้ทำให้เอสเอ็มอีสามารถขยายตลาด และปรับการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งขยายไปสู่ตลาดโลกได้โดยไม่ต้องใช้เงินทุนจำนวนมากอีกต่อไป ผมจึงอยากสนับสนุนให้เอสเอ็มอีนำดิจิทัลมาใช้ในการทำธุรกิจมากขึ้น

ทั้งนี้ อาลีบาบา บิซิเนส สคูล (Alibaba Business School หรือ ABS) มีพันธกิจในการทำให้ผู้ประกอบการและคนรุ่นใหม่ทั่วโลกมีส่วนในการสร้างผลกระทบเชิงบวกจากระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ เพื่อสร้างการพัฒนาแบบให้ทุกคนมีส่วนร่วม โครงการและความคิดริเริ่มต่างๆ ของอาลีบาบา บิซิเนส สคูล ออกแบบมาเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้เครื่องมือเศรษฐกิจดิจิทัลในการสร้างผลกระทบเชิงบวกในสังคม ผ่านการร่วมมือระหว่างกัน รวมถึงร่วมมือกับภาครัฐเพื่อสร้างผลกระทบในวงกว้างมากขึ้น โดยในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 หน่วย Alibaba Global Initiatives (AGI) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาลีบาบา บิซิเนส สคูล ได้จัดทำ คู่มือ “Digital Action for Entrepreneurs in the Age of Covid-19” เพื่อช่วยให้ธุรกิจลุกขึ้นยืนได้ในสถานการณ์โรคระบาดด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม นอกจากนี้ AGI ยังมุ่งสนับสนุนเครือข่ายผู้ประกอบการเพื่อสร้างผลกระทบในระดับท้องถิ่น โดยแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกต่างๆ จากอีโคซิสเท็มของอาลีบาบา

eFounders การเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัล สตาร์ทอัพ อาลีบาบา บิซิเนส สคูล โควิด-19 ไวรัสโคโรน่า