สถาบันอาลีบาบา ต๋าโม๋ เผยทิศทาง 10 เทรนด์เทคโนโลยีที่น่าจับตามอง
สถาบันอาลีบาบา ต๋าโม๋ (Alibaba DAMO Academy) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยระดับโลกของอาลีบาบา กรุ๊ป ได้เผยแพร่ทิศทางของเทรนด์เทคโนโลยีชั้นนำ ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในช่วงหลายปีข้างหน้านี้
นับตั้งแต่เรื่องวัสดุสำหรับผลิตเซมิคอนดักเตอร์ รุ่นที่ 3 และการวิจัยทางการแพทย์และการพัฒนาวัคซีนด้วยปัญญาประดิษฐ์ ไปจนถึงการเสริมประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการข้อมูลแบบอัตโนมัติ และเกษตรกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลอัจฉริยะ เหล่านี้เป็นเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดดที่คาดว่าจะเข้ามาผลักดันและสร้างผลกระทบต่อทุกภาคส่วนในเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม
เจฟ จาง หัวหน้าสถาบันอาลีบาบา ต๋าโม๋ และประธานบริหารของ Alibaba Cloud Intelligence กล่าวว่า “เทคโนโลยีได้มีเข้ามีบทบาทสำคัญอย่างมากในการต่อสู้กับโรคระบาดซึ่งเกิดขึ้นเมื่อต้นปีที่ผ่านมา และจะยังคงส่งผลต่อสังคมและอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องต่อไป ผ่านนวัตกรรมของโมเดลการผลิตและบริการอัจฉริยะต่างๆ เราหวังว่าจะได้ทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาและผู้เล่นในอุตสาหกรรม เพื่อผลักดันการขยายขอบเขตในการค้นคว้าวิจัย เพื่อทำให้ธุรกิจต่างๆ เข้าถึงเทคโนโลยีได้มากขึ้น และหากเราร่วมมือกัน เราจะสามารถพลิกฟื้นจากความท้าทายที่เกิดจากโรคระบาด และผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลให้เดินหน้าต่อไปได้
และนี่คือไฮไลท์ของ 10 เทรนด์เทคโนโลยีที่มาแรงที่สุดในปี 2564 จากการคาดการณ์โดยสถาบัน
เทรนด์ที่ 1 การใช้วัสดุผลิตเซมิคอนดักเตอร์ รุ่นที่ 3 คือ GaN และ SiC จะขยายไปยังอุตสาหกรรมใหม่ๆ
วัสดุผลิตเซมิคอนดักเตอร์ รุ่นที่ 3 ที่ใช้แกลเลียม ไนไตรด์ หรือ GaN และซิลิคอน คาร์ไบด์ หรือ SiC ซึ่งทนต่ออุณหภูมิความร้อนสูง แรงดันสูง ความถี่ในการใช้งานสูง ไฟฟ้าแรงดันสูง และกัมมันตภาพรังสีสูงได้ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาการนำวัสดุเหล่านี้มาใช้ยังจำกัดอยู่ในวงแคบ เนื่องจากขั้นตอนการผลิตที่ซับซ้อนและมีราคาแพง แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการเติบโตด้านวัสดุและการผลิตอุปกรณ์ที่ก้าวกระโดด ได้ช่วยให้ค่าใช้จ่ายของวัสดุผลิตเซมิคอนดักเตอร์ รุ่นที่ 3 มีราคาถูกลง การนำไปใช้ในด้านอื่นๆ จึงเป็นไปได้มากขึ้น เช่น อุปกรณ์ที่ใช้ SiC เป็นหลัก ถูกนำไปใช้ในมอเตอร์อินเวอร์เตอร์ของรถยนต์ และการผลิตสายชาร์จไฟฟ้าเร็วที่ใช้ GaN เป็นพื้นฐาน ได้เริ่มเกิดขึ้นในตลาด ในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ เราจะได้เห็นการเริ่มนำวัสดุผลิตเซมิคอนดักเตอร์ รุ่นที่ 3 ไปใช้ในด้านอื่นๆ เช่น สถานีกระจายสัญญาณ 5 จี รถยนต์ที่ใช้พลังงานแบบใหม่ และระบบส่งไฟฟ้าแรงดันสูงมาก รวมถึงศูนย์ข้อมูล
เทรนด์ที่ 2 การแก้ไขความพลาดด้านควอนตัม และประโยชน์ใช้งานของการประมวลผลแบบควอนตัม จะมีความสำคัญที่สุดในยุคหลัง Quantum Supremacy
ปี 2563 เป็นปีที่แรกหลังจากที่โลกประสบความสำเร็จในการนำควอนตัมคอมพิวเตอร์มาแก้โจทย์ปัญหาที่โดยปกติแล้วไม่สามารถแก้ได้ด้วยคอมพิวเตอร์ทั่วไป หรือที่เรียกว่า quantum supremacy ในปี 2563 นักลงทุนทั่วโลกต่างหลั่งไหลเข้ามาในตลาดการประมวลผลด้วยควอนตัม จนทำให้เทคโนโลยีและอีโคซิสเท็มที่เกี่ยวข้องเติบโตตามไปด้วย รวมถึงมีแพลทฟอร์มประมวลผลด้วยควอนตัมก้าวขึ้นมามีบทบาทเด่น ในปี 2564 เทรนด์นี้จะได้รับความสนใจมากขึ้นจากทุกส่วนในสังคม ดังนั้นการประมวลผลแบบควอนตัมจึงต้องทำผลงานให้ได้เทียบเท่ากับความคาดหวังที่ได้รับ ภารกิจในยุคหลัง quantum supremacy จึงต้องสอดคล้องกันทั่วทั้งอุตสาหกรรม นั่นคือการนำมาใช้แก้ไขปัญหาด้านวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่มีความสำคัญโดยใช้นวัตกรรมที่ทำงานประสานกัน และการกรุยทางไปสู่การแก้ไขข้อผิดพลาดด้านควอนตัมรวมถึงการนำมาใช้ประโยชน์อื่นๆ ซึ่งสองเรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการประมวลผลควอนตัมตอนนี้
เทรนด์ที่ 3 วัสดุคาร์บอนที่แปลกใหม่ จะกระตุ้นการพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ยืดหยุ่น
อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีความยืดหยุ่น จะให้สมรรถนะที่คงทนแม้จะมีการบิดเบี้ยวทางเทคนิก เช่น การงอ ม้วน หรือยืดออก อุปกรณ์เหล่านี้เหมาะกับการใช้งานในอุปกรณ์ไอทีแบบสวมใส่ หรือ wearable device, ผิวหนังอิเล็กทรอนิกส์ และจอภาพแบบยืดหยุ่น วัสดุยืดหยุ่นในอดีตมีการใช้จำกัดเนื่องจากไม่มีความยืดหยุ่นมากพอ หรือไม่สามารถทดแทนคุณสมบัติทางไฟฟ้าของวัสดุแข็งที่ทำจากซิลิคอนได้ แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การคิดค้นวัสดุคาร์บอนแบบก้าวกระโดด ทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยืดหยุ่นก้าวข้ามคุณสมบัติเดิมๆ ของตัวมันเองได้ เช่น ปัจจุบันท่อคาร์บอนขนาดนาโนได้ถูกนำมาใช้ในการผลิตวงจรรวมขนาดใหญ่ที่ให้สมรรถนะการทำงานดีกว่าวงจรซึ่งผลิตจากซิลิคอนในขนาดเดียวกัน นอกจากนี้การ์ฟีน (Garphene) ซึ่งเป็นวัสดุคาร์บอนที่มีศักยภาพสำหรับการใช้งานในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยืดหยุ่น ก็สามารถผลิตแบบปริมาณมากได้แล้ว
เทรนด์ที่ 4 ปัญญาประดิษฐ์ผลักดันการวิจัยและพัฒนาทางการแพทย์และวัคซีน
เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในการตีความภาพถ่ายทางการแพทย์และจัดการข้อมูลสถิติทางการแพทย์ ส่วนการนำมาใช้เพื่อพัฒนาวัคซีนและการวิจัยทางคลินิกของยายังคงอยู่ในขั้นนำร่อง การเกิดขึ้นของอัลกอริธึ่มใหม่ในปัญญาประดิษฐ์และประสิทธิภาพการประมวลผลที่สูงขึ้น ทำให้เราสามารถนำเทคโนโลยีนี้มาใช้วิจัยและพัฒนาด้านการแพทย์และวัคซีนได้ง่ายขึ้น ต่างจากเดิมที่ต้องใช้เวลามากและมีราคาสูง ตัวอย่างของงานที่นำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ เช่น การคัดกรองความเสี่ยงคนจำนวนมาก การสร้างโมเดลจำลองของโรค การระบุผู้ติดเชื้อ การคิดค้นสารต้นแบบ และการพัฒนายาต้นแบบ โดยการนำมาใช้งานแบบบูรณการจะลดงานที่ซ้ำซ้อน และเพิ่มประสิทธิภาพด้านการวิจัยและพัฒนา ผู้ที่ได้รับประโยชน์ก็คือประชาชนทั่วไปที่จะได้รับการดูแลรักษาทางการแพทย์และยาที่ดียิ่งขึ้นในเร็วๆ นี้
เทรนด์ที่ 5 เทคโนโลยีการเชื่อมต่อระหว่างสมองและคอมพิวเตอร์ เพื่อก้าวข้ามขีดจำกัดของร่างกายมนุษย์
เทคโนโลยีที่เชื่อมต่อการทำงานของสมองและคอมพิวเตอร์มีความสำคัญต่อปฏิสัมพันธ์แบบใหม่ระหว่างมนุษย์และจักรกล และการทำงานร่วมกันของมนุษย์และเครื่องจักร เทคโนโลยีนี้เป็นเสาหลักและแรงขับเคลื่อนในวิศวกรรมระบบประสาท มันจะวิเคราะห์การทำงานของสมองมนุษย์ในมุมที่ลึกขึ้น การเชื่อมต่อระหว่างสมองและคอมพิวเตอร์นี้สร้างเส้นทางการสื่อสารโดยตรงระหว่างสมองและอุปกรณ์ภายนอก มันจะรับข้อมูล วิเคราะห์ และแปลสัญญาณสมอง เพื่อใช้ควบคุมเครื่องจักร ในอนาคตเทคโนโลยีการเชื่อมต่อระหว่างสมองและคอมพิวเตอร์จะทำให้การควบคุมแขนกลหุ่นยนต์มีความแม่นยำมากขึ้น และช่วยเหลือผู้ป่วยที่รู้สึกตัวแต่ไม่สามารถพูดหรือขยับได้ ให้สามารถเอาชนะข้อจำกัดทางร่างกาย
เทรนด์ที่ 6 การประมวลผลข้อมูลจะกลายเป็นอัตโนมัติและเรียนรู้ด้วยตนเอง
การพัฒนาอย่างรวดเร็วของการประมวลผลแบบคลาวด์ และการเติบโตของปริมาณข้อมูลแบบทวีคูณ ทำให้เกิดความท้าทายที่น่าวิตกด้านระบบประมวล และค่าใช้จ่ายเพื่อเก็บข้อมูล รวมถึงการบริหารจัดการคลัสเตอร์ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบบดั้งเดิม การบริหารจัดการและปรับแต่งด้วยตนเองเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ในการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ในสถานการณ์ที่ซับซ้อนและหลากหลาย ดังนั้นการออพติไมซ์ระบบบริหารจัดการข้อมูลแบบอัตโนมัติด้วยปัญญาประดิษฐ์ จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดของการประมวลผลข้อมูลในอนาคต ปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ด้วยตนเองจะถูกนำไปใช้ในหลายด้าน เช่น การแยกข้อมูลที่ใช้งานบ่อยและไม่บ่อยออกจากกัน การตรวจจับความผิดปกติ การสร้างโมเดลอัจฉริยะ การวางแผนทรัพยากร การปรับพารามีเตอร์ การทดสอบความทนทานของระบบ และการแนะนำดัชนี (index recommendation) วิธีนี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการคำนวณ ประมวลผล จัดเก็บ การดำเนินงานและบำรุงรักษา ระบบบริหารจัดการข้อมูลอัตโนมัติที่เรียนรู้ด้วยตนเองจะถูกพัฒนาให้เกิดขึ้น
เทรนด์ที่ 7 เทคโนโลยีที่รองรับคลาวด์จะเปลี่ยนโฉมหน้าระบบไอที
วงจรการพัฒนาสินค้าที่ยาวและประสิทธิภาพในการวิจัยและพัฒนาที่ต่ำของการพัฒนาซอฟต์แวร์แบบดั้งเดิม เป็นปัญหาที่มีมาช้านาน แต่สถาปัตยกรรมที่ออกแบบมาให้รองรับคลาวด์ได้ตั้งแต่ต้น ทั้งการกระจายข้อมูล การปรับแต่งขนาดได้ และมีความยืดหยุ่น จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว สถาปัตยกรรมนี้ช่วยให้องค์กรบริหารจัดการและใช้อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ และทรัพยากรประมวลผลคลาวด์ที่มีหลายแบบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สถาปัตยกรรมที่รองรับคลาวด์ได้ตั้งแต่ต้น ทั้งระเบียบวิธี ชุดเครื่องมือ ขั้นตอน ผลิตภัณฑ์ และเทคนิก ทำให้ผู้พัฒนาไม่ต้องกังวลและใช้เวลาไปกับการพัฒนาแอปพลิเคชั่นใหม่เท่านั้น ในอนาคตทั้งชิพ แพลตฟอร์มการพัฒนา แอปพลิเคชั่น และแม้แต่คอมพิวเตอร์ จะพร้อมรองรับคลาวด์ตั้งแต่ต้น ประโยชน์ของเทคโนโลยีที่พร้อมรองรับคลาวด์ตั้งแต่ต้นนี้มีมากมายเกินกว่าจะแจกแจง ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีนี้ช่วยจัดระเบียบส่วนต่างๆ ที่ทำงานหลายชั้นในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น เครือข่าย เซิร์ฟเวอร์ และระบบปฏิบัติการ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการประมวลผล เพิ่มประสิทธิภาพของเทคโนโลยี ลดข้อจำกัดในการพัฒนาแอปพลิเคชั่นบนคลาวด์ และขยายขอบเขตการใช้งานแอปพลิเคชั่น
เทรนด์ที่ 8 เกษตรกรรมจะถูกขับเคลื่อนโดยข้อมูลอัจฉริยะ
การทำเกษตรแบบดั้งเดิมต้องประสบปัญหาจากการใช้พื้นที่ที่ไม่มีประสิทธิภาพ และขาดการเชื่อมต่อระหว่างผู้ผลิตและผู้ขาย ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลรุ่นใหม่ ซึ่งรวมถึงอินเตอร์เน็ตออฟธิงค์ (IoT) ปัญญาประดิษฐ์ และการประมวลผลแบบคลาวด์ ได้ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการเกษตร นับตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต ไปจนถึงการจำหน่ายให้ผู้บริโภค เซ็นเซอร์รุ่นใหม่ช่วยเก็บข้อมูลจากไร่นาได้แบบเรียลไทม์ การวิเคราะห์บิ๊กดาต้าและปัญญาประดิษฐ์ช่วยผลักดันการเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ทางเกษตรกรรม เกษตรกรสามารถตรวจดูพืชผล ปรับปรุงพันธุ์ได้อย่างแม่นยำ และจัดสรรทรัพยากรในสภาพแวดล้อมได้ตามความต้องการ นอกจากนี้เทคโนโลยี เช่น 5 จี IoT และบล็อกเชน ยังถูกนำมาใช้เพื่อควบคุมและติดตามการขนส่งพืชผลทางการเกษตร และสร้างความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยและการขนส่ง เทคโนโลยีดิจิทัลรุ่นใหม่เหล่านี้ทำให้เกษตรกรรมจะไม่ต้องพึ่งพาดินฟ้าอากาศอีกต่อไป และจะถูกขับเคลื่อนด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลอัจฉริยะแทน
เทรนด์ที่ 9 อุตสาหกรรมอัจฉริยะ ก้าวกระโดดจากการใช้งานกระจุกตัวไปเป็นการใช้งานในวงกว้างทั้งอุตสาหกรรม
ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอัจฉริยะถูกนำมาใช้ในงานบางประเภทเท่านั้น เนื่องจากมีราคาสูงและซับซ้อน และข้อมูลจากฝั่งผู้ผลิตแยกส่วนกัน รวมทั้งอีโคซิสเท็มยังไม่พร้อม แต่หลังจากการระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 ความยืดหยุ่นอย่างมากของเศรษฐกิจดิจิทัลทำให้องค์กรต่างหันมาสนใจ จนทำให้เทคโนโลยีดิจิทัลพัฒนาและขยายวงอย่างรวดเร็ว และมีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานมากมาย ปัจจัยเหล่านี้เข้ามาเปลี่ยนแปลงให้อุตสาหกรรมอัจฉริยะก้าวกระโดดจากการใช้งานกระจุกตัว ไปเป็นการใช้งานในวงกว้างทั้งอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิตที่มีระบบไอทีเต็มขั้นแล้ว อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้าคุณภาพสูง เหล็ก ปูน และเคมี อุตสาหกรรมอัจฉริยะจะถูกนำไปใช้ในทุกที่และช่วยในการตัดสินใจในอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้อย่างครบวงจร มันจะสร้างผลกระทบในวงกว้าง และถูกประยุกต์ใช้กับซัพพลายเชน การผลิต การบริหารจัดการสินทรัพย์ โลจิสติกส์ และการขาย
เทรนด์ที่ 10 ศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ จะกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเมืองในอนาคต
โครงการเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart city เปิดตัวเป็นครั้งแรกเมื่อทศวรรษก่อน และจุดประกายให้เกิดการพัฒนาสำคัญในการดูแลเมืองด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล อย่างไรก็ตาม เมื่อต้องรับมือกับสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 เมืองอัจฉริยะหลายแห่งต้องประสบปัญหา จึงเป็นที่มาว่าทำไมศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ (Intelligent operations center) จึงได้รับการยอมรับ และถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มความสามารถในการใช้ทรัพยากรข้อมูล และสนับสนุนบริการสาธารณะและการดูแลเมืองทั่วโลกอย่างละเอียดแบบเรียลไทม์ นอกจากนี้ ปัญญาประดิษฐ์ของ IoT หรือ Artificial Intelligence of Things (AIoT) ยังถูกพัฒนาจนเต็มขั้นและนำไปใช้แพร่หลาย ส่วนเทคโนโลยีการประมวลผลเชิงพื้นที่ก็ถูกปรับปรุงให้ดีขึ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้ศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะสามารถมองแต่ละเมืองเป็นระบบที่หลอมรวมกัน และนำเสนอความสามารถด้านบริการที่ครอบคลุมทั้งเมืองได้ ศูนย์ปฏิบัติอัจฉริยะจะกลายเป็นโครงการสร้างพื้นฐานดิจิทัลของเมืองในอนาคต
แชร์
ก๊อปปี้ลิ้งค์