อะไรคือบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน แล้วมันสำคัญอย่างไร

ต้นฉบับของบทความต่อไปนี้เป็นภาษาอังกฤษ คัดลอกมาจาก Alibaba.com แพลตฟอร์ม B2B สำหรับการค้าระหว่างประเทศและมีการปรับให้เป็นภาษาไทยและบาฮาซาอินโดนีเซีย อ่านบทความต้นฉบับได้ที่นี่

ความยั่งยืนเป็นเรื่องที่คนให้ความสำคัญมาเป็นระยะ เมื่อสังคมมีความตระหนักเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ประชากรจำนวนมากหันมาพิจารณาพฤติกรรมการบริโภคของตน เพื่อลดปริมาณขยะให้ได้มากที่สุด

เมื่อคนพยายามจะลดปริมาณขยะรอบตัว บรรจุภัณฑ์ยั่งยืนจึงกลายเป็นทางเลือกหนึ่งที่คนหันมาเลือกใช้ ในขณะเดียวกันก็หลีกเลี่ยงบรรจุภัณฑ์ที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

หลายบริษัทมีมาตรการเพื่อความยั่งยืน ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและเข้าถึงผู้บริโภคที่มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบรักษ์โลก

ในบทความนี้ เราจะพูดถึงบรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืนและความสำคัญของบรรจุภัณฑ์ประเภทนี้ ประเภทของวัสดุที่ใช้ผลิตสำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ก่อนที่ผู้บริโภคจะตัดสินใจว่าบรรจุภัณฑ์ประเภทไหนเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง

บรรจุภัณฑ์ยั่งยืนคืออะไร?

บรรจุภัณฑ์ยั่งยืนออกแบบมาเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมไปถึงขั้นตอนในการคัดเลือกและพัฒนาบรรจุภัณฑ์และวัสดุที่ใช้ผลิต

องค์ประกอบที่ทำให้บรรจุภัณฑ์มีความยั่งยืน ได้แก่ ประการแรก ต้องไม่ปล่อยคาร์บอนสูงเกินมาตรฐาน ขั้นตอนการผลิตและคัดเลือกวัสดุอาจก่อให้เกิดก๊าซคอร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การปล่อยคาร์บอนรูปแบบนี้ทำให้เกิดปัญหาโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้นวัสดุที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์ยั่งยืนจะต้องไม่ก่อให้เกิดปัญหาข้างต้น

ประการที่สอง คือบรรจุภัณฑ์ยั่งยืนจะต้องไม่ก่อให้เกิดขยะหรือของเสียปริมาณสูง ที่จะกลายเป็นขยะในหลุมฝังกลบ บรรจุภัณฑ์เหล่านี้จึงมักรีไซเคิลได้ ย่อยสลายได้และนำกลับมาใช้ได้

สิ่งสำคัญคือ บรรจุภัณฑ์ยั่งยืนจะไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งในแง่กระบวนการผลิตและกระบวนการกำจัดทิ้ง

อย่างไรก็ตาม บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็จะมีต้นทุนและค่าขนส่งที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นต้นทุนที่บริษัทที่ยึดมั่นในความยั่งยืนต้องจ่าย ซึ่งผู้ประกอบการสามารถนำไปตั้งราคาที่สูงขึ้นได้หากกลุ่มเป้าหมายให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม

ทำไมบรรจุภัณฑ์ยั่งยืนจึงสำคัญ?

เหตุผลที่แบรนด์เลือกที่จะใช้บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน คือ ต้องการเปลี่ยนแปลงธุรกิจให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเพื่อดึงดูดกลุ่มเป้าหมายที่มีไลฟ์สไตล์รักษ์โลก

ร้านค้า B2B มองหาทางเลือกบรรจุภัณฑ์ยั่งยืนเพื่อลดปริมาณ “คาร์บอนฟุตพริ้นท์” ซึ่งหมายถึงปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยสู่บรรยากาศ และยังช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติแบบไม่หมุนเวียน ความพยายามเหล่าล้วนมีเป้าหมายเพื่อลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน 10 แบบสำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ

บรรจุภัณฑ์ยั่งยืนมีหลากหลายรูปแบบให้เลือก ลองมาศึกษารูปแบบยอดนิยม ที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเลือกใช้เพื่อความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

1. บรรจุภัณฑ์ที่ปราศจากพลาสติก

พลาสติกทำมาจากโพลีเมอร์สังเคราะห์ ทำให้ใช้เวลาถึง 500 ปีถึงจะย่อยสลายไปกับพื้นดิน ขั้นตอนการผลิตพลาสติกส่งผลกระทบสูงต่อสิ่งแวดล้อมและระยะเวลานานในการย่อยสลายเป็นการทำลายระบบนิเวศน์ แม้พลาสติกบางประเภทสามารถย่อยสลายได้ ก็ยังไม่ถือว่าเป็นวัสดุที่ยั่งยืน

เนื่องจากพลาสติกราคาย่อมเยาและผลิตได้ง่าย ร้านค้าปลีกส่วนใหญ่จึงเลือกใช้พลาสติกทำบรรจุภัณฑ์  หากจะเลิกใช้พลาสติก ก็ต้องมองหาทางเลือกอื่นๆ

2. ไบโอพลาสติก

ไบโอพลาสติกมีลักษณะคล้ายพลาสติก ทำมาจากพืช จึงสามารถย่อยสลายเป็นขยะได้และย่อยสลายทางชีวภาพได้ วัสดุเหล่านี้จึงมีปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่ต่ำ

วัสดุยอดนิยมที่ใช้ทำไบโอพลาสติก อาทิ สาหร่าย ข้าวโพด แป้งข้าวโพด ถั่ว ต้นอ้อย และรากผักต่างๆ พืชเหล่านี้สามารถแพร่พันธุ์และเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ไบโอพลาสติกไม่เป็นพิษต่อมนุษย์และสัตว์อื่นๆ แต่ไม่แนะนำให้รับประทานเพราะวัสดุที่ใช้ทำบางชนิดไม่สามารถรับประทานได้

ไบโอพลาสติกใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 3-6 เดือน ดังนั้นหากไบโอพลาสติกกลายเป็นขยะตามธรรมชาติ ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเท่าขยะพลาสติกทั่วไป เพราะไบโอพลาสติกไม่ได้ทำมาจากสารพิษที่เป็นอันตราย

ข้อเสียของไบโอพลาสติกคือราคาสูงกว่าพลาสติกทั่วไป ซึ่งก็เป็นราคาที่ต้องจ่ายเพื่อความยั่งยืน

3. กระดาษ

การหันมาใช้กระดาษเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีไปสู่ความยั่งยืน และเป็นเรื่องปกติที่บรรจุสินค้าด้วยกระดาษแข็งหรือซองจดหมาย เพราะวัสดุเหล่านี้หาได้ทั่วไปตามท้องตลาด

ร้านค้าบางแห่งใช้กระดาษรองสินค้าที่แตกหักง่ายเพื่อกันไม่ให้สินค้าเสียหายระหว่างขนส่ง ใช้แทนที่ห่อพลาสติกหรือโฟมกันกระแทก

กระดาษห่อสามารถใช้แทนพลาสติกได้ในบางสถานการณ์ ตัวอย่างเช่น สามารถใช้กระดาษห่อสบู่แทนที่จะใช้พลาสติก การเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยสามารถส่งผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ได้ โดยเฉพาะเมื่อขายสินค้าจำนวนมาก

แม้กระดาษจะไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้ แต่กระดาษหรือกระดาษแข็งสามารถรีไซเคิลได้ เป็นหนทางไปสู่ความยั่งยืน

4. ห่อพลาสติกย่อยสลายได้

สไตโรโฟมถูกนำมาใช้เพื่อห่อสินค้าที่แตกหักง่ายเป็นเวลานานแล้ว อย่างไรก็ตามสไตโรโฟมไม่จัดเป็นบรรจุภัณฑ์ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่าไรนัก

ห่อพลาสติกย่อยสลายได้เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับร้านค้า ลักษณะการใช้งานเหมือนกับสไตโรโฟม แต่มันสามารถย่อยสลายทางชีวภาพแถมยังละลายน้ำได้

ห่อพลาสติกย่อยสลายได้มักทำมาจากฝักข้าวโพด มันฝรั่งและพืชชนิดอื่นๆ จึงไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมและไม่เป็นอันตรายหากสัตว์หรือเด็กเล็กรับประทานเข้าไป บรรจุภัณฑ์ประเภทนี้ราคาสูงกว่าสไตโรโฟมเล็กน้อย

5. แก้ว

แก้วเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน เพราะสามารถรีไซเคิลได้มากกว่าพลาสติกและนำมาใช้ใหม่ได้ แก้วทำมาจากธรรมชาติ แม้ใช้เวลานานในการย่อยสลายแต่จะไม่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม

 แก้วถูกใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะที่ใช้บรรจุของเหลว ซึ่งเหมาะกับร้ายขายผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด อาหารและอื่นๆ

ข้อเสียของแก้วคือราคาแพงและแตกง่ายกว่าพลาสติก ผู้ผลิตจึงควรออกแบบบรรจุภัณฑ์อย่างระมัดระวังและไม่ให้สินค้าแตกหักระหว่างขนส่งจากต้นทางไปยังปลายทาง

6. บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้

ร้านค้าที่หันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับธุรกิจ B2B ไม่เพียงแค่เป็นการลดขยะสะสม แต่ยังเป็นการบำรุงหน้าดินอีกด้วย

บรรจุภัณฑ์ประเภทนี้ทำมากจากพืชและวัสดุที่ย่อยสลายทางชีวภาพได้

คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีถังแยกประเภทขยะในบ้าน จึงมีบริษัทกำจัดขยะและรีไซเคิลที่ให้บริการรับจัดเก็บขยะที่ย่อยสลายได้ โดยขยะที่ย่อยสลายจะถูกจัดการอย่างเป็นระบบ แม้บริการประเภทนี้ยังไม่แพร่หลายเท่าบริการขนขยะหรือบริการรีไซเคิล แต่ก็กำลังเป็นเทรนด์ที่มีแนวโน้มจะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ

7. บรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ได้

หลายคนคงเคยได้ยินวลี  “Reduce, Reuse, Recycle” ซึ่งเป็นค่านิยมที่ปลูกฝังมาเพื่อให้รักษ์สิ่งแวดล้อม แบรนด์ต่างๆ หันมาให้ความสำคัญกับ Reuse มากขึ้น เพื่อการผลิตบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน

บางแบรนด์มีการให้ข้อมูลบนบรรจุภัณฑ์ เพื่อสร้างแรงจูงใจกับผู้บริโภคในการนำกลับมาใช้ใหม่ หนึ่งในวิธีที่ร้านค้าชักชวนให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมกับโครงการเพื่อความยั่งยืน คือให้ลงภาพสินค้า Reuse หรือ Recycle บนโซเชียลมีเดียของตนเองพร้อมกับแฮชแท็กพิเศษ ซึ่งเป็นการเพิ่มกิมมิกและทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้น

8. บรรจุภัณฑ์ที่ทำมาจากไม้ไผ่

ไม้ไผ่เป็นพืชที่เติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย ไม้ไผ่เป็นพืชที่มีกว่าหลายร้อยสปีชีย์ทั่วโลก

เนื่องจากเป็นพืชที่หาง่ายและเติบโตเร็วอย่างมาก ทำให้ไม้ไผ่เหมาะกับนำมาทำเป็นสิ่งต่างๆ รวมไปถึงบรรจุภัณฑ์นั่นเอง ไม้จากต้นไผ่มีความทนทานและสามารถใช้ได้โดยไม่ต้องแปรรูป

มีบรรจุภัณฑ์หลายประเภทที่ทำมาจากไม้ไผ่ เช่น กระดาษแข็ง ภาชนะบรรจุของเหลว อาทิ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดหรือผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับความงาม ผู้ผลิตบางรายใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำมาจากไม้ไผ่ผสมกับแก้ว

นอกจากจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม้ไผ่ยังใช้งานง่าย ทนทานและมีรูปลักษณ์ที่สวยงาม

9. ไม้ก๊อก

ไม้ก๊อกจัดเป็นบรรจุภัณฑ์อีกหนึ่งประเภทที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  ทำมาจากเปลือกของต้นโอ๊คสายพันธุ์พิเศษ มี ความทนทานและสวยงาม

ไม้ก๊อกเป็นวัสดุที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์ได้หลากหลาย เนื่องจากมีความทนทานและกันกระแทกได้ จึงเหมาะกับนำมาบรรจุสินค้าที่แตกหักง่าย

นอกจากสามารถย่อยสลายได้และมีความยั่งยืนแล้ว ไม้ก๊อกยังมีคุณสมบัติในการกันความชื้นและกำจัดกลิ่น จึงเป็นที่มาของการใช้ไม้ก๊อกเป็นจุกไวน์และของเหลวอื่นๆ

ไม้ก๊อกเป็นวัสดุที่ไม่ติดไฟ จึงเหมาะกับนำมาบรรจุสินค้าไวไฟ เช่นฝาครอบเทียน

10. วัสดุรีไซเคิล

วัสดุรีไซเคิลเหมาะสำหรับการทำเป็นบรรจุภัณฑ์ เหล่านี้รวมไปถึงแก้ว พลาสติก กระดาษแข็ง กระดาษ

 ธุรกิจจำนวนมากใช้พลาสติกรีไซเคิลมาเป็นบรรจุภัณฑ์  แม้ว่าจะไม่ใช่ตัวเลือกที่ยั่งยืนที่สุด แต่ก็เป็นการประหยัดขยะพลาสติกจากการใช้ครั้งเดียว

นอกจากการใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ บริษัทยังทำสินค้ามาจากวัสดุรีไซเคิล  ซึ่งเป็นกลบยุทธ์ที่เหมาะกับนโยยายความยั่งยืนของบริษัทที่มีวิสัยทัศน์ไปในแนวทางแบบนี้

ตัวอย่างแบรนด์ที่ใช้บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน

หากคุณไม่มันใจว่าจะเริ่มออกแบบบรรจุภัณฑ์อย่างไร ลองมาดูตัวอย่างจากแบรนด์เหล่านี้เพื่อเป็นแรงบันดาลใจ

Lush

Lush เป็นแบรนด์เกี่ยวกับความงามและสุขอนามัยที่ขายสินค้าประเภทสบู่ บาธบอม สกินแคร์  ความยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญของบรรจุภัณฑ์ของ Lush และบริษัทฯ มีนโยบายหลากหลายเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน

กลยุทธ์หลักของแบรนด์คือการไม่ใช้บรรจุภัณฑ์ใดๆ เลยกับสินค้าบางประเภท  อาทิ สบู่ก้อน  ทำให้สินค้าดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดของเสียใดๆ (zero-waste)

นอกจากนี้ Lush ยังใช้พลาสติกรีไซเคิลสำหรับขวดและป้ายสินค้าและราคา  อีกทั้งยังจูงใจให้ลูกค้านำบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วมาคืนที่ร้าน  นอกจากนี้ Lush ใช้กระดาษแก้วที่ทำมาจากไบโอพลาสติกมาห่อสินค้าบางประเภทอีกด้วย

Lush นับเป็นแบรนด์ความงามชั้นนำในเรื่องการเคลื่อนไหวด้านความยั่งยืน ด้วยการลดการใช้ขวดพลาสติกขนาดใหญ่สำหรับแชมพูและครีมนวด  ซึ่งตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ไลฟ์สไตล์ที่ก่อให้เกิดขยะเป็นศูนย์หรือขยะที่ประมาณต่ำ

บรรจุภัณฑ์บางประเภทเช่นผ้าผูกสินค้าสามารถนำกลับมาใช้ใหม่เป็นเครื่องประดับ ซึ่งโดนใจลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย

Lush เริ่มตั้งเป้าหมายสู่ความยั่งยืนตั้งแต่ปี 2555 และมีมาตรการต่อเนื่องเพื่อโลกแห่งความยั่งยืน

Dell

Dell แบรนด์คอมพิวเตอร์ชื่อดัง ไม่ได้ใช้บรรจุภัณฑ์ยั่งยืนทั้งหมด แต่มีส่วนประกอบที่น่าสนใจ แทนที่จะใช้สไตโรโฟม Dell ใช้วัสดุที่ทำจากพืช ได้แก่เห็ดและพืชอื่นๆ

นับว่าเป็นทางเลือกแทนสไตโรโฟมที่น่าสนใจ ไม่เพียงบรรจุภัณฑ์จากเห็ดจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า แต่ยังทนทานและปกป้องสินค้าได้ดี อีกทั้งยังสามารถตัดและใช้เป็นปุ๋ยให้ย่อยสลายไปในพื้นดิน

Alibaba.com B2B ความยั่งยืน ส่งออกไทย/อินโดนีเซีย