ธุรกิจไทยมุ่งยกระดับอีคอมเมิร์ซให้เติบโตท่ามกลางวิกฤติโควิด
แม้จะต้องใช้ชีวิตท่ามกลางความมืดมนของการระบาดของ COVID-19 แต่ท่ามกลางความมืดนั้นก็ยังมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ สิ่งนั้นก็คือ นวัตกรรมที่ทำให้เราเชื่อมต่อกับโลกดิจิทัล ซึ่งช่วยเพิ่มความสะดวกและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่การทำงานและการสื่อสารของเรามากยิ่งขึ้น
ในขณะที่โรคระบาดยังไม่มีทีท่าจะหายไปง่าย ๆ การหันมาใช้โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล (digital infrastructure) เพื่อรองรับการทำงานระยะไกลและการทำธุรกรรมและธุรกิจออนไลน์จึงกลายเป็นที่แพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ ซึ่งกลายเป็นอุตสาหกรรมที่เฟื่องฟูในประเทศไทยในช่วงโรคระบาด เนื่องจากผู้บริโภคนิยมซื้อของจากที่บ้านมากขึ้นและมีการปิดร้านค้าออฟไลน์และร้านอาหารต่าง ๆ ในช่วงล็อกดาวน์
เจ้าของธุรกิจต่าง ๆ เริ่มเรียนรู้ว่า การเปลี่ยนจากการมีหน้าร้านเพียงอย่างเดียวเป็นร้านค้าออนไลน์จะช่วยให้พวกเขาฝ่าฟันอุปสรรคและก้าวต่อไปได้ ซึ่งกรณีนี้เกิดขึ้นในธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) และแบรนด์ต่าง ๆ ในประเทศไทยเช่นเดียวกับแบรนด์ต่าง ๆ ทั่วโลก สอดคล้องกับรายงานของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าของประเทศไทยที่กล่าวว่า ในช่วงเจ็ดเดือนแรกของปีนี้ มีธุรกิจเข้ามาจดทะเบียนในรูปแบบอีคอมเมิร์ซกว่า 794 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีการจดทะเบียนเพียง 576 รายเท่านั้น[1]
ธุรกิจจำนวนมากกำลังก้าวเข้าสู่โลกอีคอมเมิร์ซ ผู้ขายออนไลน์มือใหม่จึงต้องเผชิญกับโลกของการค้าออนไลน์เป็นครั้งแรกโดยไม่มีประสบการณ์ที่มากพอ ธุรกิจที่กำลังมองหาลู่ทางเพื่อยกระดับทักษะด้านอีคอมเมิร์ซของตนพบว่า แบรนด์ของพวกเขามียอดการเข้าเยี่ยมชม (Online Traffic) การรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness) รวมไปถึงยอดขายที่มากขึ้น ผ่านการมีส่วนร่วมกับลูกค้าทั้งในประเทศและทั่วโลกด้วยแพลตฟอร์มที่กว้างขวางขึ้น
การขยายความรู้ด้านอีคอมเมิร์ซเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จ
ตัวอย่างแบรนด์ที่ใช้วิธีนี้คือ บริษัท แทนทอง อาร์ต จำกัด ซึ่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์อัญมณีทำมือ ในช่วงแรก ทางแบรนด์ขายผ่านร้านค้าปลีกแบบออฟไลน์และขายที่งานแสดงสินค้ามาโดยตลอด และเมื่อ COVID-19 ระบาดจนทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ช่วงล็อกดาวน์ ทางแบรนด์ก็สัมผัสได้ถึงความลำบากเพราะขาดแหล่งขายสินค้าหลักไป
วัลยา สุวรรณาภิรมย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แทนทอง อาร์ต จำกัด เห็นถึงพลังของอีคอมเมิร์ซเมื่อมีอินฟลูเอนเซอร์ไลฟ์ขายผลิตภัณฑ์ในงานแสดงสินค้าและขายคอลเลคชันของบูธหมดภายในวันเดียว ดังนั้น ด้วยความมุ่งมั่นที่จะขยายความรู้ด้านอีคอมเมิร์ซและช่วยให้บริษัทของเธอเติบโตท่ามกลางวิกฤติโควิด เธอจึงเข้าร่วมโครงการฝึกอบรม Alibaba Netpreneur ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการและผู้นำด้านธุรกิจนำขั้นตอนที่เป็นรูปธรรมและใช้ได้จริงไปยกระดับแบรนด์ของตนเองเพื่อเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล (digital economy) ตามเส้นทางการเป็นผู้ประกอบการของอาลีบาบา ทำให้ฐานลูกค้าของ แทนทอง อาร์ต ขยายตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% และทำให้เห็นยอดขายเติบโตมากกว่า 20% ในช่วง 10 เดือน นับตั้งแต่ที่ทางแบรนด์เปลี่ยนรูปแบบการขายสู่ออนไลน์และเปิดตัวเว็บไซต์เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
“นอกเหนือจากกระแสอีคอมเมิร์ซแล้ว โครงการนี้ยังช่วยทำให้เราเห็นว่า เราสามารถนำข้อมูลเชิงลึกและโมเดลธุรกิจไปใช้กับบริษัทของเราได้อย่างง่ายดายและมีประสิทธิภาพ ซึ่งช่วยพลิกธุรกิจของเรา นอกจากนี้ เรายังสามารถเข้าถึงฐานลูกค้าทั่วโลก และผ่านความยากลำบากที่เกิดจากโรคระบาดในครั้งนี้” คุณวัลยากล่าว
ส่วนธุรกิจและแบรนด์ที่อยู่ในโลกออนไลน์มาตั้งแต่แรก สิ่งที่พวกเขาควรคิดเป็นอันดับแรกคือ จะทำอย่างไรให้แบรนด์ของตัวเองต่างจากคนอื่นในตลาดออนไลน์ที่มีผู้คนมากมายและเป็นตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็ว
นี่คือสิ่งที่บริษัทการตลาดและที่ปรึกษาด้านดิจิทัลอย่าง Pharm Connection ได้เรียนรู้หลังจากดำเนินธุรกิจมา 5 ปีในตอนที่เกิดโควิด บริษัทนี้ให้บริการโซลูชันด้านการให้คำปรึกษาแก่บริษัทยา โดยโควิดบีบให้อุตสาหกรรมยาต้องเปลี่ยนไปหาพื้นที่ดิจิทัล ตอกย้ำให้บริษัทต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมยาต้องสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ และเป็นผู้ริเริ่มในการตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่หันมาพึ่งโลกดิจิทัลมากขึ้น
การเข้าร่วมในโครงการฝึกอบรม Alibaba Netpreneur ทำให้พวกเขาได้รับโซลูชันและแนวคิดใหม่ ๆ ที่พวกเขาสามารถนำมาใช้เพื่อรับมือกับโอกาสที่เข้ามา “โครงการนี้ทำให้ได้เปิดประสบการณ์ว่ายังมีอีกหลายวิธีที่เราสามารถเชื่อมต่อกับลูกค้าได้ เช่น การไลฟ์สดและการซื้อเป็นกลุ่ม ในปีที่ผ่านมา บริษัทยาต่าง ๆ ได้ติดต่อมาหาเรามากขึ้น เพื่อใช้บริการดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งจากเรา และเรายังจัดเว็บบินาร์เป็นประจำทุกสัปดาห์ ซึ่งทำให้เราได้แรงบันดาลใจในการผลักดันและค้นหาวิธีที่จะช่วยให้อุตสาหกรรมยาของประเทศไทยเข้าสู่โลกดิจิทัลต่อไป” วิรุฬห์ เวชศิริ ผู้ร่วมก่อตั้ง Pharm Connection (Thailand) กล่าว
เปิดรับเส้นทางใหม่ เพื่อรับความเสี่ยง
ในขณะที่คนทั้งโลกต้องดำเนินชีวิตและทำงานต่อไปในสภาพแวดล้อมที่มีโรคระบาด การได้รับประสบการณ์และโอกาสใหม่ ๆ จึงจำเป็นต่อการเติบโตอย่างยั่งยืน อีคอมเมิร์ซจะเป็นรูปแบบหลักในการจับจ่ายซื้อของในอนาคตอันใกล้ และการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลเป็นกลยุทธ์สำคัญสำหรับธุรกิจในการทำให้ลูกค้ามีส่วนร่วมกับแบรนด์และทำให้แบรนด์อยู่เหนือวิกฤติโรคระบาดได้
“เชื่อว่าเจ้าของธุรกิจทุกคนจะต้องยอมรับการเข้าสู่โลกดิจิทัล ไม่ว่าคุณจะอยู่ในแพลตฟอร์มดิจิทัลอยู่แล้วหรือยังคงทำแบบเดิมอยู่ คุณต้องรู้จักธุรกิจของตัวเองจากภายในสู่ภายนอก สร้างโปรไฟล์ให้แบรนด์ตัวเองได้ และเป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรม ซึ่ง SMEs ไทยมีศักยภาพที่จะก้าวไปสู่ระดับโลก เรามีเอกลักษณ์และมีทรัพยากรที่ดี สิ่งที่เราขาดคือกลยุทธ์และประตูสู่โอกาส ดังนั้น สิ่งแรกที่ต้องทำหากคุณอยากจะก้าวไปสู่ระดับโลกคือต้องศึกษาและสำรวจตลาดที่คุณคิดว่าคุณทำได้ แล้วคุณจะพบช่องทางหรือแพลตฟอร์มที่เหมาะสมที่จะช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมายนั้นเอง” คุณวัลยากล่าวสรุป
[1] https://www.bangkokpost.com/business/2179947/e-commerce-gains-during-pandemic
แชร์
ก๊อปปี้ลิ้งค์