ผู้ประกอบการไทยที่เคยผ่านหลักสูตร Netpreneur ให้ความสำคัญกับการสร้างความมีส่วนร่วมด้านดิจิทัล ในสังคมไทย

มนู มากมณี ผู้ประกอบการไทยที่เคยผ่านหลักสูตร Netpreneur สำหรับประเทศไทย ของอาลีบาบา รุ่นที่ 1 ซึ่งมีความมุ่งมั่นในการสร้างความมีส่วนร่วมด้านดิจิทัล ควบคู่กับการพัฒนาธุรกิจบรรจุภัณฑ์กระดาษของตนเอง

แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา กรุ๊ป เคยกล่าวไว้ในการประชุมผู้ประกอบการในปีที่ผ่านมา ว่า “ผู้ประกอบการไม่ใช่กลุ่มคนที่มุ่งแสวงหากำไรเพียงอย่างเดียว แต่การเป็นผู้ประกอบการที่ดีจะต้องมีจิตใจที่ดี มีความตั้งใจดี มีจิตวิญญาณที่ดี และมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่”

มนู มากมณี ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งแบรนด์ Boxjourney และเคยผ่านหลักสูตรฝึกอบรม Netpreneur สำหรับประเทศไทย ของอาลีบาบา เป็นอีกคนหนึ่งที่ได้นำวิสัยทัศน์เรื่องการเป็นผู้ประกอบการที่ดีของแจ็ค หม่า มาใช้ โดยได้รับแรงบันดาลใจจากแนวคิดของโครงการหมู่บ้านเถาเป่า โดยหลังจากมนูได้เข้าร่วมหลักสูตรในปีปลายปีที่ผ่านมา เขาได้เกิดความมุ่งมั่นที่จะมีช่วยเหลือชุมชนชนบทของไทย ผ่านธุรกิจบรรจุภัณฑ์กระดาษที่กำลังเติบโต

Boxjurney ก่อตั้งขึ้นในปี 2553 โดยเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายกล่องและบรรจุภัณฑ์ทั้งแบบสำเร็จรูป และตามคำสั่งซื้อลูกค้า โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นโรงแรม ร้านอาหาร และภัตตาคารในประเทศไทย โดยนับตั้งแต่ก่อตั้ง บริษัทฯ ได้พัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ จนปัจจุบันมีถึง 5,000 โมเดล และมีร้านค้าปลีก 3 สาขา พนักงาน 150 คน และมีโรงงานผลิตในจังหวัดปทุมธานี

แรงบันดาลใจในการสร้างความมีส่วนร่วมด้านดิจิทัลในไทย

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มนูมองหาแนวทางที่จะนำเทคโนลีดิจิทัลมาใช้สร้างการเติบโตทางธุรกิจของ Boxjourney มาตลอด ดังนั้นเมื่อเขาพบกับหลักสูตร Netprenuer สำหรับประเทศไทย ของอาลีบาบา ซึ่งจัดโดยอาลีบาบา บิสเนส สคูล เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในแต่ละท้องถิ่น เขาจึงได้เข้าสมัครเข้าร่วม ซึ่งหลักสูตรนี้ได้ให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์ ทั้งพื้นฐานของการซื้อขายสินค้าในช่องทางดิจิทัล และประสบการณ์ตรงจากการศึกษาดูงานเศรษฐกิจดิจิทัลของอาลีบาบา เมื่อจบหลักสูตร มนูจึงเดินหน้าปรับเปลี่ยนธุรกิจไปสู่ดิจิทัล โดยเริ่มจากการขายสินค้าผ่านไลฟ์สตรีม และเพิ่มการเข้าถึงลูกค้าผ่านแพลทฟอร์มลาซาด้า

แต่นอกเหนือจากความรู้และประสบการณ์ด้านธุรกิจที่ได้รับ เขายังได้เรียนรู้ว่าอีคอมเมิร์ซสามารถช่วยพัฒนาชีวิตของคนในชนบทได้ เนื่องจากในหลักสูตรนี้ได้นำผู้เข้าอบรมไปเยี่ยมชมหมู่บ้านไป่หนิวซึ่งอยู่ใกล้กับสำนักงานใหญ่ของอาลีบาบาในหังโจว โดยที่หมู่บ้านแห่งนี้ อาลีบาบาได้นำโครงการเถาเป่าที่ริเริ่มโดยแจ็ค หม่า และอาลีบาบา มาช่วยส่งเสริมการมีส่วนร่วมด้านดิจิทัลของผู้ที่ยังขาดโอกาสในสังคม เช่น เกษตรกร เยาวชน และผู้หญิง ซึ่งเป็นจุดหักเหที่ทำให้มนูเปลี่ยนความคิดใหม่ โดยไม่ได้มุ่งแต่สร้างการเติบโตของธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่มีเป้าหมายที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม  และช่วยให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถเติบโตไปพร้อมๆ กัน

มนู กล่าวว่า “ธุรกิจจะไม่สามารถเดินหน้าได้ ตราบใดผู้คนรอบข้างในสังคมยังคงลำบากและขาดแคลน”

การเยี่ยมชมหมู่บ้านไป่หนิว เป็นตัวอย่างของการนำอีคอมเมิร์ซมาช่วยเหลือให้ชุมชนชนบทสามารถพัฒนาตนเอง และทำให้มนู (แถวหลังสุด ที่ 2 จากซ้าย) เกิดความคิดที่จะปิดช่องว่างด้านดิจิทัลระหว่างชุมชนเมืองและชนบท

จากเมืองสู่หมู่บ้าน

หลักจากเข้าร่วมหลักสูตร Netpreneur มนูได้เริ่มงานช่วยเหลือสังคม โดยสอนกลุ่มเกษตรในจังหวัดนครปฐมให้รู้จักการขายสินค้าเกษตรผ่านช่องทางออนไลน์

ต่อมา เนื่องจากมีพนักงานของบริษัทฯ คนหนึ่ง ได้ประสบอุบัติเหตุในช่วงต้นปี จนไม่สามารถมาทำงานได้และสุดท้ายต้องออกจากงานเพื่อรักษาตัวอยู่ที่บ้านที่ดอนเมือง ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้พนักงานคนดังกล่าวไม่ขาดรายได้ ทาง Boxjourney จึงช่วยเหลือโดยจ้างผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ต้องอาศัยการทำมือ ซึ่งสามารถทำได้จากที่บ้าน

ต่อมาเมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ในไทยในช่วงเดือนมีนาคม ทำให้มีคนในชุมชนของพนักงานคนดังกล่าวต้องตกงานเป็นจำนวนมากเนื่องจากมาตรการล็อคดาวน์ จึงมีหลายคนสนใจที่จะเข้ามาทำงานผลิตบรรจุภัณฑ์ทำมือให้กับ Boxjourney มนูจึงยินดีจ้างคนในชุมชนในการผลิตสินค้าทำมือ รวมทั้งให้วัตถุดิบ และสร้างห้องผลิตที่เหมาะสมให้ ซึ่งปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมจากชุมชนดอนเมือง 48 คน

นอกจากชุมชนที่ดอนเมือง Boxjourney ยังขยายการสร้างงานในชุมชนไปยังอีก 2 จังหวัด คือ อ่างทอง และนครปฐม สำหรับที่อ่างทอง ได้ริเริ่มขึ้นเนื่องจากมีญาติของพนักงานทราบข่าวเกี่ยวกับการเข้ามาช่วยเหลือชุมชน จึงมีความสนใจเนื่องจากมีคนที่ตกงานอยู่มากจากสถานการณ์โรคระบาด ส่วนที่นครปฐม เป็นกลุ่มที่มนูได้เข้าไปทำกิจกรรมเพื่อสังคมอยู่แล้ว แต่ได้เห็นว่าเกษตรกรในละแวกนั้นต้องขาดรายได้นอกฤดูกาลเกษตร จึงเสนอให้ผลิตสินค้าทำมือให้กับบริษัทฯ ด้วย

หนึ่งในห้องผลิตสินค้าของ Boxjourney ที่ช่วยสร้างงานให้กับคนในชุมชนที่ตกงาน และแก้ปัญหาการขาดแคลนงานในชนบท

เริ่มสร้างงานในชนบท

หลังจากเริ่มเข้าไปสร้างงานในชุมชนมาตั้งแต่ต้นปี ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมกลุ่มผลิตสินค้าทำมือให้ Boxjourney แล้ว 75 คนจากทั้งชุมชน 3 แห่ง โดยมีกำลังการผลิตขึ้นอยู่กับรูปแบบของสินค้า ซึ่งบางโมเดลมีรูปแบบที่ไม่ซับซ้อน สามารถผลิตได้สูงสุดถึงวันละ 25,000 ชิ้นต่อวัน ทำให้ปัจจุบัน 10% ของสินค้าทั้งหมดของ Boxjourney เป็นสินค้าทำมือที่ผลิตโดย 3 ชุมชน

มนู กล่าวถึงความก้าวหน้าในกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือชุมชนชนบทของบริษัทฯ ว่า “คนในชุมชนที่เราเข้าไปส่งเสริมอาชีพ พวกเขามีความสุขขึ้นเพราะสร้างรายได้ได้โดยไม่ต้องออกไปทำงานในเมือง เพราะถ้าไม่มีงาน พวกเขาต้องเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ ที่มีค่าครองชีพสูง และไม่ได้อาศัยอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัว”

กิจกรรมนี้ยังสร้างประโยชน์ทางอ้อมให้บริษัทฯ เนื่องจากการผลิตสินค้ามีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพราะคนในชุมชนสามารถผลิตได้อย่างคล่องตัวตามความต้องการของลูกค้า และผลิตจำนวนไม่มากได้ มนูยังพบว่าสินค้าทำมือที่ผลิตโดยชุมชนมีคุณภาพดีกว่าการจ้างผู้ผลิตภายนอก เพราะคนในชุมชนสามารถให้เวลากับงานที่ต้องการความประณีตได้มากกว่า

มนู โชว์กล่องเค้กแบบมีหน้าต่างพลาสติกใส ซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าทำมือที่ Boxjourney จ้างชุมชนผลิต

การปรับตัวในมรสุมโควิด-19

เนื่องจากกลุ่มลูกค้าหลักของ Boxjourney อยู่ในธุรกิจร้านอาหารและท่องเที่ยว ดังนั้นเมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ทาง Boxjourney จึงได้รับผลกระทบโดยตรง จนทำให้ยอดขายลดลงถึง 50% ในเดือนกุมภาพันธ์ มนู กล่าวว่า “ถ้าตอนนั้นเราไม่ได้ทำอะไรสักอย่างเพื่อปรับตัว บริษัทฯ คงต้องปิดตัวลง และต้องปลดพนักงานออก”

อย่างไรก็ตาม ในช่วงดังกล่าว มนูได้รับข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์จากทางอาลีบาบา บิสเนส สคูล ซึ่งช่วยเหลือศิษย์เก่าที่เคยเข้าอบรมหลักสูตร โดยมีการส่งข้อมูลและกรณีศึกษาจากประเทศจีนซึ่งเกิดโรคระบาดก่อนไทย ให้เห็นว่าธุรกิจมีวิธีการรับมืออย่างไรบ้าง ทำให้มนูเห็นทิศทางของตลาดและปรับเปลี่ยนไปเน้นบรรจุภัณฑ์สำหรับบริการส่งอาหารและอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มการทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น ลาซาด้า ซึ่งผลที่ได้คือสามารถสร้างยอดขายจากช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น 100% นับตั้งแต่เดือนมีนาคม ซึ่งมนูเห็นว่าเป็นสิ่งที่หลายธุรกิจยังขาดความพร้อมเรื่องการรับมือภาวะวิกฤตเช่นนี้

แผนงานในอนาคต

Boxjourney คาดว่าน่าจะจ้างชุมชนผลิตสินค้าทำมือมากขึ้น จึงได้ลงทุนสร้างคลังสินค้าที่อ่างทองเพื่อให้ระบบโลจิสติกส์ที่ดี นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะให้ความรู้กับชาวบ้านเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล ว่าไม่ได้มีแค่เรื่องการผลิตเท่านั้น แต่ยังมีความเกี่ยวข้องในกระบวนการอื่นๆ อย่างไร ในอนาคตมนูยังต้องการให้ความรู้ชุมชนเรื่องทักษะในการขายสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซ เช่น วิธีการถ่ายภาพสินค้าที่ดี การทำการตลาดผ่านโซเชียลมีเดีย และการบริการจัดการร้านค้าออนไลน์

“ผมอยากช่วยให้ชุมชนรู้วิธีนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการขายสินค้าของท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขาได้ เรื่องนี้ตอบโจทย์ความตั้งใจส่วนตัวของผมที่อยากจะสร้างคุณค่าให้คนอื่นๆ และทำให้สังคมของเรามีความสุขมากขึ้น” มนู กล่าวสรุป

Netpreneur การขายสินค้าจากชนบท ความเป็นผู้ประกอบการ ลาซาด้า อาลีบาบา บิสเนส สคูล โควิด-19