กสอ. จับมืออาลีบาบา จัดคอร์สติว ผปก.สู้ศึกดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เร่งส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยให้มีศักยภาพในด้านการทำตลาดออนไลน์ เผยปี 2561 ที่ผ่านมา ได้ผลักดันให้ก้าวเข้าสู่ช่องทางดังกล่าวด้วยรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การจับคู่ระหว่างผู้ประกอบการ การค้าปลีก ส่วนในปีถัดไปได้เตรียมสนับสนุนให้เข้าสู่ ระบบออนไลน์ให้ได้มากขึ้นอย่างน้อย 10,000 ธุรกิจ พร้อมชี้ 5 ปัจจัยการทำตลาดผ่านระบบดิจิทัลที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวและติดตามอย่างใกล้ชิด เช่น การเลือกใช้ช่องทางที่มีประสิทธิภาพในการจำหน่าย หรือประชาสัมพันธ์ การให้ความสำคัญกับข้อมูล (Big Data) การให้ความสำคัญกับความรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และอาลีบาบา บิสิเนส สคูล จัดสัมมนา Alibaba Global Course ภายใต้แนวคิด “New Technology, New Opportunity Thailand 2018” เพื่อให้เอสเอ็มอีไทย ชิงความได้เปรียบบนช่องทางการตลาดออนไลน์ โดยมีองค์ความรู้ที่สำคัญต่างๆ เช่น การเจาะลึกปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และคอมพิวเตอร์ (Human Computer Interactive) เส้นทางในการก้าวสู่การเป็นดิจิทัลของเมืองเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการไทยในด้านความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นต้น
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในปี 2562 กสอ. มีนโยบายในการพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีปี 2562 ด้วยแนวคิด “การตลาดนำการผลิต” ซึ่งนโยบายดังกล่าวชมุ่งให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวได้ทันกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมในเรื่อง “การทำตลาดออนไลน์” หรือดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง ทั้งนี้ ปัจจัยดังกล่าวถือเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการช่วยขับเคลื่อนการแข่งขันทางธุรกิจ โดยเฉพาะการลดต้นทุนการก้าวนำคู่แข่ง การเชื่อมโยงผู้บริโภคจากทั่วโลก รวมทั้งความได้เปรียบทางด้านข้อมูลที่ยุคนี้จะต้องเป็นไปอย่างรวดเร็ว
สำหรับการส่งเสริมของกสอ.ในช่วงปี 2561 ที่ผ่านมาได้ผลักดันให้ผู้ประกอบการก้าวเข้าสู่ช่องทางออนไลน์ เช่น T-GoodTech , J-GoodTech , Alibaba โดยมุ่งเน้นการจับคู่ระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ (Business to Business: B2B) ระหว่างผู้ประกอบการไทยด้วยกันเองและผู้ประกอบการไทยกับผู้ประกอบการต่างประเทศ รวมถึงขายสินค้าหรือบริการให้กับลูกค้าที่เป็นผู้บริโภคทั่วไป (Business to Consumer: B2C) ซึ่งเป้าหมายในปีถัดไปยังจะมุ่งผลักดันให้เข้าถึงช่องทางการค้าออนไลน์ต่างๆให้ได้มากกว่า 10,000 ธุรกิจ ครอบคลุมปัจจัยที่จำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมและธุรกิจหลากหลายประเภท อาทิ การจัดการด้านโลจิสติกส์ อีคอมเมิร์ซ การประชาสัมพันธ์ ฯลฯ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจเอสเอ็มอีให้เติบโต พร้อมก่อมูลค่ามหาศาลผ่านช่องทางที่มีประสิทธิภาพได้มากยิ่งขึ้น
นายกอบชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า เทรนด์การทำการตลาดผ่านช่องทางดิจิทัลในปีถัดไปคาดว่าจะมีการแข่งขันกันในระดับที่สูงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวและติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในเรื่องที่สำคัญต่อไปนี้
- การสร้างเรื่องราวของแบรนด์ หรือ Content Marketingซึ่งจะต้องมีความแตกต่าง จากการนำเสนอเนื้อหาของแบรนด์ด้วยประสบการณ์จริงที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงความจริงใจ มีความรวดเร็ว สอดคล้องกับสถานการณ์ต่างๆที่เป็นปัจจุบัน และต้องสร้างความรู้สึกให้ผู้พบเห็นหรือผู้บริโภครู้สึกอยากติดตามจากความสม่ำเสมอในการนำเสนอเนื้อหาที่ต้องไม่มากหรือน้อยจนเกินไป
- การเลือกใช้ช่องทางที่มีประสิทธิภาพในการจำหน่าย หรือประชาสัมพันธ์ เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์เคลื่อนที่ล้วนเข้าถึงสังคมออนไลน์ประเภทต่างๆแทบทั้งสิ้นดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องรู้จักการนำสินค้าให้เข้าไปอยู่บนช่องทางที่สอดคล้องกับผู้บริโภคในแต่ละช่วงอายุ เช่น ตลาดผู้สูงอายุต้องใช้ช่องทางที่ไม่ซับซ้อนและเข้าถึงง่าย กลุ่มวัยรุ่นต้องเน้นภาพ เนื้อหา และการโต้ตอบ กลุ่มคนวัยทำงานเน้นช่องทางที่สามารถชำระค่าบริการได้อย่างเบ็ดเสร็จ เป็นต้น
- การให้ความสำคัญกับข้อมูล (Big Data) จากพฤติกรรมของผู้บริโภคซึ่งยังคงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถศึกษาได้จากผู้ให้บริการช่องทางการค้าออนไลน์ ทั้งการให้ความสนใจกับสินค้าแต่ละประเภท การตัดสินใจเลือกซื้อ รวมถึงการติดตามผ่านการสื่อสารกับผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งจะทำให้ทราบถึงแนวทางการปรับปรุงคุณภาพสินค้าและการบริการ ต่อเนื่องถึงการสร้างความภักดีต่อแบรนด์ในระยะยาว
- ให้ความสำคัญกับความรวดเร็ว ผู้ประกอบการต้องเตรียมตัวให้พร้อมกับการรับมือจากการเข้ามาของระบบเทคโนโลยี 5 G ซึ่งอาจมีผลที่กระตุ้นให้ผู้บริโภคมีความรวดเร็วในการตัดสินใจ ความเร่งรีบในการเลือกชมสินค้า ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องปรับกลยุทธ์การนำเสนอเนื้อหาที่ต้องสามารถเห็นแล้วเข้าใจทันที มีระบบการสั่งซื้อ จ่ายเงิน และการขนส่งที่รวดเร็ว การตอบข้อสงสัยด้วยระบบอัตโนมัติเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้ได้ตลอดเวลา
- เตรียมกำลังคนให้พร้อมกับทักษะด้านดิจิทัลซึ่งเรื่องดังกล่าวจะไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่งในแต่ละองค์กร ดังนั้นทั้งผู้ประกอบการและบุคลากรในแต่ละธุรกิจจึงต้องมีทักษะในเรื่องดังกล่าว เช่น การรับ-ส่งข้อมูล การวิเคราะห์สถิติต่างๆ การอัพเดทเทคโนโลยีใหม่ๆที่สามารถเป็นเครื่องมือและเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจ
นายกอบชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ล่าสุดกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และ อาลีบาบา บิซิเนส สคูล (Alibaba Business School) จัดกิจกรรมสัมมนา Alibaba Global Course ภายใต้แนวคิด “New Technology, New Opportunity Thailand 2018” ซึ่งมุ่งเน้นการเจาะลึกดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งด้วยเทคโนโลยีก้าวกระโดด เพื่อชิงความได้เปรียบช่องทางการตลาดออนไลน์ ให้กับผู้ค้าของไทย ประกอบไปด้วย เส้นทางในการก้าวสู่การเป็นดิจิทัลของเมืองเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการไทยในด้านความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีดิจิทัล การเจาะลึกปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และคอมพิวเตอร์ (Human Computer Interactive) ที่จะเผยให้เห็นถึงข้อมูลอินไซต์จากวิจัยของอาลีบาบาเพื่อให้ความรู้และประสบการณ์ใหม่ในการดำเนินธุรกิจให้ผู้ประกอบการ และยกระดับประสบการณ์ในการช้อปปิ้งให้กับผู้บริโภค พร้อมทั้งศักยภาพของบิ๊กดาต้าที่จะช่วยเปลี่ยนถ่ายธุรกิจสู่ระบบดิจิทัล โดยมีสมาร์ทสโตร์และช่องทางค้าปลีกของอาลีบาบาเป็นกรณีศึกษา พร้อมด้วยวิทยากรในระดับแถวหน้าจากอาลีบาบาที่ให้เกียรติร่วมบรรยายอย่างมากมาย
ด้าน นายไมเคิล ซู ผู้อำนวยการอาลีบาบา กรุ๊ปและรองประธานมหาวิทยาลัยเถาเป่า (Mr. Michael Xu, Director of Alibaba Group and Vice President of Taobao University) กล่าวว่า ในการจัดฝึกอบรมในครั้งนี้เป็นการแสดงให้เห็นจุดยืนของอาลีบาบาที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กของไทยตามที่เคยให้คำมั่นไว้กับรัฐบาลไทย โดยสัมมนาในครั้งนี้ จะเน้นในด้านเทคโนโลยีที่จะช่วยการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล ทั้งในด้านธุรกิจจนไปถึงการบริหารจัดการเมือง เราหวังว่าการสัมมนานี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมสัมมนาในการวางแผนของการก้าวสู่เส้นทางของโลกดิจิทัล
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2202 4414 – 17 หรือ เข้าไปที่ www.dip.go.th
แชร์
ก๊อปปี้ลิ้งค์