อาลีบาบา เปิดตัวการแข่งขันสำหรับเยาวชนระดับโลก ปี 2564 ครั้งแรกกับการแข่งขันสร้างแบรนด์แบบ Direct-to-Consumer
อาลีบาบา เปิดตัวการแข่งขันสำหรับเยาวชนระดับโลก ปี 2564 ครั้งแรกกับการแข่งขันสร้างแบรนด์แบบ Direct-to-Consumer
โอกาสมาถึงแล้วสำหรับเยาวชนไทยที่ฝันอยากจะเป็นผู้ประกอบการ และอยากสร้างแบรนด์ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก กับการแข่งขันล่าสุดที่ให้เยาวชนได้นำแนวคิดมาสร้างสรรค์ให้เกิดเป็นรูปธรรม
โครงการ Global Digital Talent หรือ GDT ของอาลีบาบา กรุ๊ป ประกาศเปิดตัว Alibaba GDT Global Challenge 2021 ซึ่งเป็นการแข่งขันแนวผู้ประกอบการระดับนานาชาติ ที่สนับสนุนให้เยาวชนสร้างโซลูชั่นดิจิทัลเพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของตลาด
การแข่งขันในปีนี้เน้นไปที่พลังและศักยภาพของการสร้างแบรนด์แบบ direct-to-consumer (DTC) หรือการขายผ่านช่องทางของแบรนด์ถึงผู้บริโภคโดยตรง เพราะการระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าในช่องทางออนไลน์ และยังเป็นการแสดงให้ธุรกิจต่างๆ เห็นถึงความจำเป็นในการนำดิจิทัลเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในกลยุทธ์การขายและการตลาดของตนเอง
ในปีนี้ ยังถือเป็นครั้งแรกที่ผู้เข้าแข่งขันจะได้จับคู่กับผู้ผลิตชั้นนำที่ทางโครงการ Alibaba GDT แนะนำ เพื่อทำงานร่วมกันในการสร้างโซลูชั่นธุรกิจ สำหรับประเทศไทยมีผู้ผลิตแบบดั้งเดิม 17 รายเข้าร่วมโครงการจากหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งกำลังมองหาวิธีเปลี่ยนผ่านธุรกิจไปสู่ดิจิทัล
สำหรับการแข่งขันรอบคัดเลือกในประเทศไทย จัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือกับพันธมิตร GDT ของอาลีบาบา คือ CCN Partner และได้การตอบรับอย่างล้นหลามนับตั้งแต่เปิดรับสมัคร โดยมีเยาวชนไทยสมัครเข้าร่วมแข่งขัน 20 ทีม ในจำนวนนี้มี 17 ทีม มาจากนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นจำนวน 117 คน ซึ่งเป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ Alibaba GDT
ส่วนการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศของประเทศไทยจะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อหาผู้ชนะ 3 ทีม จากนั้นทีมเยาวชนผู้ชนะจากทั่วโลก 12 ประเทศ จะมาแข่งขันกันรอบสุดท้ายในเดือนธันวาคม ได้แก่ จีน โคลอมเบีย ฝรั่งเศส อินโดนีเซีย คาซัคสถาน มาเลเซีย มองโกเลีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ไทย สหราชอาณาจักร และสหรัฐ
เจมส์ ซ่ง เลขาธิการใหญ่ฝ่ายดูแลธุรกิจโลกของอาลีบาบา กล่าวว่า “เยาวชนคือคนที่จะเติบโตเป็นผู้นำในอนาคต เราได้เห็นแนวคิดที่น่าสนใจมากมายจากคนรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมแข่งขันในปีที่ผ่านๆ มา และหวังว่าจะมีความน่าสนใจมากขึ้นในปีนี้ เพราะได้ผู้ผลิตชั้นนำเข้ามาร่วมในโครงการ การผสมผสานระหว่างความรู้ดิจิทัลของคนรุ่นใหม่กับประสบการณ์ของผู้ผลิต จะทำให้เกิดโซลูชั่นใหม่ที่ดีกว่าเดิม เพื่อตอบโจทย์ความต้องการและความชื่นชอบของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล”
ในปีที่แล้ว นวัตกรรมที่ชนะเลิศจากประเทศไทย เป็นของทีม GRA(TI)TUDE ที่ประกอบด้วยนักศึกษา 4 คนจากวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งผลิตมันฝรั่งทอดกรอบที่มีรสชาติของอาหารพื้นเมืองหาดใหญ่ และประสบความสำเร็จในการทำการตลาด อีกทั้งยังทำงานร่วมกับไร่มันฝรั่ง 6 แห่ง เพื่อซื้อผลผลิตจากเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ด้วย
นอกจากนี้ โครงการยังจัดฝึกอบรมความรู้ให้แก่เยาวชนที่เข้าร่วมการแข่งขัน เกี่ยวกับกลยุทธ์การสร้างแบรนด์แบบ direct-to-consumer ที่ใช้งานได้จริง ซึ่งประกอบด้วยการวางตำแหน่งแบรนด์ การมีส่วนร่วมกับผู้บริโภค การวิจัยตลาด และกลยุทธ์การตลาดดิจิทัล โดยใช้ผู้สอนที่ได้รับประกาศนียบัตรจาก Alibaba GDT
การให้คะแนนแต่ละทีม จะพิจารณาจากแผนที่นำเสนอในแง่ความละเอียดของข้อมูลเชิงลึกผู้บริโภค ความแปลกใหม่ และประโยชน์ต่อสังคม รวมถึงภาพรวมการทำงาน และทักษะการนำเสนอ ผู้ชนะระดับโลกอันดับที่ 1 จะได้รับงบประมาณการตลาดจริงจากผู้ผลิตที่ทำงานร่วมกันในการแข่งขันนี้ ส่วนอันดับที่ 2 จะได้รับเงินรางวัลราว 656,000 บาท ที่ 3 ราว 328,000 บาท และที่ 4 ราว 164,000 บาท
โครงการ Alibaba GDT (หรือชื่อเดิม Alibaba GET) เริ่มต้นขึ้นในปี 2559 โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล และการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมด้วยการบ่มเพาะคนดิจิทัลรุ่นใหม่ จากการทำงานร่วมกับเครือข่ายทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน ได้สร้างประโยชน์ให้กับพันธมิตรซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาแล้ว 80 แห่ง และฝึกอบรมผู้สอนแล้วมากกว่า 1,000 คน รวมถึงนักศึกษามากกว่า 20,000 คนที่เข้าร่วมการแข่งขัน จากประเทศโคลอมเบีย เม็กซิโก มองโกเลีย มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ รวันดา สิงคโปร์ และจีน
แชร์
ก๊อปปี้ลิ้งค์