ก้าวไปสู่ยุคใหม่ อาลีบาบาฉลองครบรอบ 20 ปี
อาลีบาบา กรุ๊ป เฉลิมฉลองบริษัทครบรอบ 20 ปี พร้อมจัดงานกาล่า ณ เมืองหังโจวระลึกถึงการเดินทางที่ผ่านมา เมื่อครั้งบริษัทยังเป็นสตาร์ทอัพอีคอมเมิร์ซ ริเริ่มโดยผู้ก่อตั้ง 18 คน มีอพาร์ทเมนต์ขนาดเล็กของแจ็ค หม่า เป็นออฟฟิศ จนปัจจุบันกลายมาเป็น บริษัทมูลค่า 447,000 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1,900,000 ล้านบาท)
เป็นครั้งสุดท้ายที่นายหม่าปรากฏตัวในฐานะประธานกรรมการ ส่งไม้ต่อให้นายแดเนียล จาง ซีอีโอคนใหม่ อย่างไรก็ตาม นายหม่าจะดำรงตำแหน่งกรรมการบอร์ดบริหารจนถึงปีหน้า และเป็นสมาชิกของอาลีบาบา พาร์ทเนอร์ชิพ คณะกรรมการของบริษัทไปตลอด
ในสุนทรพจน์สุดท้าย นายหม่ากล่าวไว้ว่า นี่ไม่ใช่การเกษียณอายุแต่เป็นการเริ่มต้นของการสืบทอดแนวทางของเขา
อาลีบาบาภูมิใจกับการกำกับดูแลกิจการ (Corporate Governance) โดยเฉพาะในเรื่องของการใช้ระบบพาร์ทเนอร์ชิพ ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อให้วัฒนธรรมและแบบแผนการดำเนินงานของบริษัทใน 20 ปีที่ผ่านมา สามารถดำรงอยู่ได้แม้ผู้ก่อตั้งจะไม่อยู่แล้ว ซึ่งเป็นการตอกย้ำการตัดสินใจของหม่าในการประกาศให้นายจางเป็นผู้สืบทอดเมื่อปีที่ผ่านมา เชื่อว่านายจางจะมีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับลูกค้า พนักงาน และผู้ถือหุ้นไปในทิศทางเดียวกับตัวเขา
“มันไม่ใช่เพราะการตัดสินใจของตัวบุคคล แต่เพราะระบบประสบความสำเร็จ” นายหม่ากล่าวในตอนหนึ่งของสุนทรพจน์
ความรุ่งโรจน์ของอาลีบาบามีความเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจีน ช่วงเปิดตัวในปี 2542 จีนมีแค่ธุรกิจค้าปลีกพื้นฐาน ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 8.8 ล้านคน ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่ำกว่า 800 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 24,000 บาท) ปัจจุบันจีนมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 800 ล้านคน รายได้เฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 8,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 240,000 บาท) และมีการหมุนเวียนเงินในตลาดอีคอมเมิร์ซกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 30 ล้านล้านบาท) บริษัทวิจัย eMarketer ชี้ว่า สัดส่วนของตลาดอีคอมเมิร์ซจีนนับเป็นร้อยละ 54.7 ของตลาดอีคอมเมิร์ซทั่วโลก นับเป็นสัดส่วนที่ใหญ่กว่าตลาดของ 5 อันดับถัดไปรวมกันเกือบถึง 2 เท่า อาลีบาบาเปิดเผยกว่าอีโคซิสเต็มของบริษัทในจีน ก่อให้เกิดการจ้างงานทางตรงและทางอ้อมของคนประมาณ 40 ล้านคน
นายหม่าที่เพิ่งจะอายุ 55 ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ย้ำเรื่องการที่อาลีบาบาควรเป็นบริษัทที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับโลก แทนที่จะเป็นบริษัทที่มุ่งหวังแต่ผลกำไร นายหม่ากล่าว่า การตัดสินใจที่สำคัญที่สุดของบริษัท ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องตัวเงินเลยแม้แต่น้อย
“เบื้องหลังการตัดสินใจของเรา เทคโนโลยีที่เราลงทุนไป ผลิตภัณฑ์ที่เราคิดค้น เราสร้างขึ้นมา ล้วนเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม นำทางพันธกิจ วิสัยทัศน์ และค่านิยมของบริษัท” นายหม่าอธิบาย
ในอีก 20 ปีข้างหน้า นายหม่าตั้งเป้าให้อาลีบาบาลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สร้างความเท่าเที่ยมทางโอกาส และมีความยั่งยืน
นายจางคาดว่าอนาคตของอาลีบาบาจะสามารถรองรับผู้ใช้กว่า 1 พันล้านคนทั่วโลกและมีการหมุนเวียนเงินในตลาดกว่า 10 ล้านล้านหยวน (43 ล้านล้านบาท) ในอีก 5 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ บริษัทต้องช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เปลี่ยนธุรกิจของตนไปสู่รูปแบบดิจิทัลเต็มตัว ทั้งในบริบทของการค้า การเงิน การขนส่ง และคลาวด์ คอมพิวติ้ง รวมไปถึงการตลาด ช่องทางการขาย การผลิต การออกแบบผลิตภัณฑ์ บริการลูกค้า การบริหารองค์กร ที่ระบบการปฏิบัติการของอาลีบาบาสามารถช่วยได้
“สิ่งเหล่านี้สามารถช่วยให้ธุรกิจก้าวไปสู่ความเป็นดิจิทัลและอนาคตที่ยั่งยืน” นายจางกล่าว เช่นเดียวกับวิสัยทัศน์ของนายหม่า ในพันธกิจเหล่านั้นมีความเห็นแก่ผู้อื่นเป็นองค์ประกอบ
“เราต้องการสร้างคุณค่าให้แก่สังคม แก้ไขปัญหาสังคม และเป็นบริษัทที่สนับสนุนความรับผิดชอบทางสังคม” นายจางเสริม “หากอาลีบาบาสามารถช่วยเหลือสังคม แม้ในประเด็นที่เล็กน้อย เราก็มีความสุขมากแล้ว เราหวังว่าลูกค้าและพาร์ทเนอร์ของเราดำเนินธุรกิจได้ดียิ่งกว่าอาลีบาบา”
อาลีบาบาออกค่านิยมฉบับใหม่เนื่องในโอกาสครบรอบบริษัท ธุรกิจพัฒนาพร้อมกับที่โลกก็พัฒนา ดังนั้นบริษัทและพนักงานต้องพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของโลก
การปรับเปลี่ยนค่านิยมครั้งล่าสุด สอดคล้องกับทิศทางของพันธกิจและวิสัยทัศน์ที่บริษัทตอกย้ำ คือ “การทำให้ทุกคนสามารถทำธุรกิจได้อย่างสะดวกสบายจากทุกหนแห่งทั่วโลก” และยังตอกย้ำวิสัยทัศน์ ที่มุ่งมั่นใน “การเป็นบริษัทที่ดี ในระยะเวลา 102 ปี ในยุคดิจิทัล” แทนที่จะมุ่งแต่การเติบโตและทำกำไรเพียงอย่างเดียว
แชร์
ก๊อปปี้ลิ้งค์