เปิดโลก Gen Z จีน กับ 5 เทรนด์ไลฟ์สไตล์สุดล้ำที่เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค
คนรุ่นใหม่ชาวจีนกำลังกลายเป็นผู้บริโภคกลุ่มหลักในตลาดค่าปลีกอย่างรวดเร็ว จากความกระหายต่อการผจญภัยและค้นหาประสบการณ์ใหม่ ๆ กีฬาทางน้ำอย่าง แพดเดิลบอร์ดจึงเป็นหนึ่งในกิจกรรมหลังเลิกงานที่ตอบโจทย์พวกเขา และกำลังมาแรงในตอนนี้ ขณะที่อีกฟากหนึ่ง คนรุ่นใหม่ชาวจีนอีกไม่น้อย ก็หันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น ทำให้ยอดจำหน่ายสินค้าในหมวดผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพพุ่งกระฉูด โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอร์
เทรนด์เหล่านี้ถูกรวบรวมไว้ใน งานเมกเกอร์ เฟสติวัล ของอาลีบาบา กรุ๊ป งานแสดงสินค้าและนวัตกรรมที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย ซึ่งไม่เพียงแต่เปิดเวทีให้สตาร์ทอัพจีนได้มานำเสนอผลงาน แต่ยังเป็นโอกาสที่นักลงทุนจะได้ค้นพบเทรนด์ที่กำลังได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคปัจจุบัน งานนี้เราก็ได้นำตัวอย่างไลฟ์สไตล์เทรนด์มาแรง และผลงานที่กำลังจะเป็น rising star บนแผ่นดินเซี่ยงไฮ้ ไปจนถึงกรุงปักกิ่ง มาฝากผู้อ่านกันด้วย
อันดับที่ 5 : โซเชี่ยล สปอร์ต
นักช้อป Gen Z (คนที่เกิดระหว่างปี 2539-2553) จำนวนมาก หันมาเล่นกีฬาแบบกลุ่มที่ทุกคนสามารถสนุกด้วยกันได้โดยไม่เน้นการแข่งขันแบบซีเรียสจริงจังเหมือนเกมกีฬาทั่ว ๆ ไป เรื่องนี้ ได้รับการพิสูจน์จากความนิยมที่เพิ่มขึ้นต่อการเล่นแพดเดิลบอร์ดกับจานร่อนตามสวนสาธารณะต่าง ๆ ในจีน
“คนรุ่นใหม่ต้องการแสดงออกถึงตัวตน และค่านิยมที่พวกเขายึดถือ ผ่านงานอดิเรก” นี่คือคำบอกเล่าจาก Xu Yingfeng ผู้ร่วมก่อตั้งดีไซเนอร์แบรนด์จานร่อน Yikun สตาร์ทอัพที่กำลังมาแรงจากมณฑลหางโจว ฝั่งตะวันออกของประเทศจีน
ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทางแบรนด์ได้ตัดสินใจเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมาย จากนักกีฬามืออาชีพ มาเป็นมือสมัครเล่น เพื่อสร้างการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคอายุน้อยที่กำลังมองหากิจกรรมเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างบุคคลผ่านการออกกำลังกายกลางแจ้ง การออกแบบจานร่อนโดยใส่ความเป็นแฟชั่นแบบเฉพาะตัวลงไป จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนรีแบรนด์ครั้งนี้
อ้างอิงจากรายงานของคณะกรรมการบริหารกีฬาจานร่อน หากย้อนไปเมื่อปี 2551 จำนวนประชากรที่นิยมเล่นจานร่อนในประเทศจีนนั้นถือว่าต่ำมาก คิดเป็นเพียงหลักร้อยเท่านั้น แตกต่างจากตัวเลขของปีที่ผ่านมาอย่างมหาศาล ที่พบว่ามีจำนวนจานร่อนในจีนมากถึง 500,000 ชิ้น
แพดเดิลบอร์ด กีฬาพายเรือแบบยืนหรือคุกเข่าบนแผ่นกระดานลอยน้ำ ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่กำลังได้รับความนิยม พิสูจน์ได้จากตัวเลขยอดขายกระดานจากแคลิฟอร์เนีย ของแบรนด์ Bote ที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นสามเท่าจากของปีที่แล้ว เพราะกระแสความนิยมอันล้นหลามต่อกีฬาชนิดนี้ He Detao พาร์เนอร์ธุรกิจจากจีน กล่าว
อันดับที่ 4 : พาสัตว์เลี้ยงไปแคมปิ้ง
อุปกรณ์สนามสำหรับสัตว์ เช่น โค้ทกันลม และเต๊นท์ กำลังได้รับความนิยมจากบรรดาคนรักสัตว์ที่ต้องการให้ลูก ๆ ขนฟูได้ร่วมสัมผัสไลฟ์ไตล์แบบลุย ๆ ไปกับพวกเขาด้วย
Yang Lin อาศัยอยู่กับสุนัขและแมวทั้ง 5 ในมณฑลหูเป่ย์ เธอก่อตั้งแบรนด์ Aowu มาจากความตั้งใจที่ต้องการสร้างอุปกรณ์สนามสำหรับสัตว์เพื่อเอาใจบรรดาคนรักสุนัขโดยเฉพาะ
“ฉันอยากเห็นสัตว์เลี้ยงของฉันวิ่งเล่นและปลดปล่อยพลังออกมาอย่างเต็มที่ท่ามกลางธรรมชาติรอบตัว” Yang เล่าให้เราฟังถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้เธอสร้างเสื้อโค้ทกันฝนสำหรับสุนัข ที่มีความยืดหยุ่นสูง น้ำหนักเบา เหมาะแก่การใส่ออกไปเดินเล่นบนภูเขาใกล้บ้านของเธอ ในมณฑลหูเป่ย์ ทางตอนกลางของประเทศจีน
ยิ่งไปกว่านั้น บรรดาอุปกรณ์สนามสำหรับสัตว์ก็ยังกลายเป็นไอเทมเก๋ ๆ ไว้ประดับบ้าน ในวันที่คุณไม่ได้นำออกไปใช้งานอีกด้วย
“ลูกค้าหลายคนซื้อเต๊นท์ไปตั้งแทนที่เบาะนอนสัตว์เลี้ยงแบบทั่วไป ทำให้ได้ความรู้สึกเหมือนนำกิจกรรมกลางแจ้งมาไว้ในบ้านเลยล่ะ” นี่คือคำบอกเล่าของ Chai Ze ผู้ก่อตั้งแบรนด์ PlayLogic จากเมืองเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเริ่มวางจำหน่ายผลิตภันฑ์ครั้งแรกบนเถาเป่า เมื่อเดือนมีนาคม ในช่วงมาตรการล้อคดาวน์
PlayLogic สร้างเต๊นท์ขนาดมินิสำหรับแมว โดยใช้วัสดุไฟเบอร์ไซเคิล ซึ่งทางเจ้าของแบรนด์ก็ยังเสริมด้วยว่าผลิตภัณฑ์ของเขาสามารถใช้กับสุนัขขนาดเล็กได้เช่นกัน
อันดับที่ 3 : ไอเทมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
คน Gen Z คือกลุ่มผู้บริโภคที่ไม่ว่าจะทำอะไรก็จะคิดถึงสิ่งแวดล้อม การรีไซเคิล หรือการนำกลับมาใช้ซ้ำเสมอ เรียกได้ว่าคนรุ่นใหม่เหล่านี้ซึมซับคุณค่าของการใส่ใจในสิ่งแวดล้อมเข้าไปถึงระดับโมเลกุล และพวกเขาก็แสดงออกมาผ่านพฤติกรรมการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์
“ต่อจากนี้ไป อีโค-เฟรนลี่ จะกลายเป็นข้อกำหนดขั้นพื้นฐานที่ลูกค้าใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า” Zhao Hanqing หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ Slowow จากกรุงปักกิ่ง ผู้ผลิตอุปกรณ์แกลมปิ้ง (แคมปิ้งสไตล์หรูหรา) ที่ครบครันไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก
นี่จึงทำให้ Slowow ไม่รีรอที่จะออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความทนทาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หนึ่งในผลงานชิ้นโบว์แดงคือ ไฟแกลมปิ้งที่สร้างจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ซึ่งถูกออกแบบมาให้แขวนหรือถือได้ง่าย และที่สำคัญสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ
ด้วยดีไซน์ที่เก๋ไก๋ และฟังก์ชั่นการใช้งานที่ดี Slowow ได้เข้ามาพลิกโฉมวงการผู้ผลิตอุปกรณ์สนามไปโดยปริยาย เพราะผู้บริโภคยังซื้อผลิตภัณฑ์ของทางแบรนด์ไปใช้เป็นไอเทมตกแต่งบ้านด้วย ไม่ว่าจะเป็น โคมไฟ โต๊ะ ไปจนถึงสิ้นค้าขายดีอย่างเก้าอี้สนามที่สามารถวางไว้ในห้องนั่งเล่นได้โดยไม่ดูขัดตาแม้แต่น้อย
“เราต้องการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีฟังก์ชั่นการใช้งานหลากหลายเพื่อลดการซื้อสินค้าจำนวนมากเกินความจำเป็น” Zhao กล่าว
เช่นเดียวกับแบรนด์ชุดออกกำลังกาย Mountain Fever ที่ได้ผลิตเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์ปีนเขาจากเส้นใยไนลอนที่แปรรูปมาจากขวดน้ำพลาสติก
“ผลิตภัณฑ์ของเราคือคำตอบสำหรับนักผจญภัยที่ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม” Kevin Wong ผู้ก่อตั้งแบรนด์ กล่าว
อันดับที่ 3 : ครัวไปไหน ไปด้วย
ไม่ว่าจะออกไปเดินป่ากับสุนัข หรือเล่นแพดเดิลบอร์ดกับเพื่อน ๆ เหล่าผู้บริโภค Gen-Z ก็คือมนุษย์ที่ต้องรู้สึกหิว และแน่นอนว่าผู้ประกอบการยุคใหม่ก็ไม่รีรอที่จะคว้าโอกาสอันหอมกรุ่นในการพัฒนาอาหารสำเร็จรูปสำหรับนักผจญภัยกลางแจ้ง
Fanhu ก่อตั้งขึ้นที่เมืองกวางโจว และเริ่มจำหน่ายอาหารสำเร็จรูปพร้อมทานครั้งแรกตั้งแต่ 2563 ด้วยคอนเซปมื้ออาหารพร้อมทานแบบ Meal-in-one สำหรับพกพาไปทำกิจกรรมแคมปิ้ง โดยในเซตจะประกอบไปด้วยส่วนผสมต่าง ๆ ชุดเครื่องปรุง และถ้วยดินเผา ที่แพครวมกันมา สนนราคาเพียง เซตละ 20 หยวน (2.89 ดอลลาร์) เท่านั้น ต่างจากอาหารสำเร็จรูปทั่วไปที่ผู้ปรุงอาหารต้องอุ่นในเตาอบหรือไมโครเวฟ ผลิตภัณฑ์ของ Fanha คือเมนูที่ถูกคิดค้นมาเพื่อสนองดีมานด์ของผู้ที่หลงรักการผจญภัยและธรรมชาติห่างไกลจากห้องครัว อย่างแท้จริง
“ถ้วยหม้อดินแบบโบราณของเราสามารถวางบนเตาสนามได้พอดิบพอดี และยังคู่ควรกับการถ่ายภาพอวดผู้ติดตามของคุณบนโซเชี่ยลมีเดียด้วย” He Hua เจ้าของแบรนด์กล่าว
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ Fanha สามารถสร้างยอดขายบนทีมอลล์แล้วถึง 25 ล้านหยวนในปี 2564 และสำหรับปีนี้ ทางแบรนด์ยังได้นำเซตเมนูใหม่ที่ประกอบไปด้วย ข้าว ไส้กรอกแบบจีนแท้ ๆ และหมูสามชั้นปรุงรสด้วยหอมหัวใหญ่สีเขียว สุดแสนจะน่ารับประทาน มาเปิดตัวภายในงานเมกเกอร์ เฟสติวัลด้วย
ทั้งนี้ ทา iiMedia Research ได้ออกมาคาดการณ์ว่า ตลาดอาหารสำเร็จรูปพร้อมทานในประเทศจีนจะโตขึ้นแตะ 1 ล้านล้านหยวนภายในปี 2569 ซึ่งสูงกว่าตัวเลขของปี 2562 ถึง 4 เท่าตัวเลยทีเดียว
อันดับที่ 1 : โน-แอลกอฮอร์
เพราะคนกลุ่ม Gen Z และวัยมิลเลนเนียล ต่างก็หันไปเลือกบริโภคอาหารสุขภาพ “เบียร์ที่ไม่ใช่บียร์” และเครื่องดื่มคลาสสิกอื่น ๆ ที่ปราศจากแอลกอฮอล์ จึงกลายเป็นไอเทมที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในหมู่นักดื่มชาวจีน ข้อมูลจากทีมอลล์ เปิดเผยว่าเครื่องดื่มหมวดเบียร์ปลอดแอลกอฮอล์และหมวดแคลอรี่ต่ำ มีมูลค่า GMV เพิ่มสูงขึ้นถึง 657% เมื่อเทียบระหว่างปี 2020 กับปี 2021
เทรนด์ดังกล่าวทำให้ บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มทั้งระดับโลกและภายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทข้ามชาติจากเบลเยียมอย่าง AB InBev หรือ Tsingtao Brewery ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในเมืองซานตง ก็ยังต้องปรับกลยุทธ์ กระโดดเข้ามาจับตลาดสุขภาพด้วยในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา โดยพวกเขาได้เริ่มจำหน่ายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ต่ำในผับบาร์ต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม จังหวะนี้ ต้องยกให้ผู้เล่นรายใหม่อย่าง New Zero จากเซี่ยงไฮ้ อีกหนึ่ง rising star ผู้ผลิตเบียร์ปลอดแอลกอฮอล์ด้วยนวัตกรรมที่เหนือกว่าเครื่องดื่มปลอดแอลกอฮอล์ของแบรนด์อื่น ๆ ที่มักจะมีแอลกอฮอล์ประมาณ 0.5%
“ถ้าไป๋จิ่ว (เหล้าเหมาไถ) คือเครื่องดื่มของรุ่นปู่ เบียร์คือเครื่องดื่มของรุ่นพ่อ คนรุ่นใหม่อย่างพวกเรา ก็ต้องมีอะไรที่เป็นของยุคเราเช่นกัน” San Xiaonan ผู้ก่อตั้งแบรนด์ New Zero กล่าว
เขาเริ่มสร้างแบรนด์เมื่อปี 2563 และสามารถทำยอด GMV ได้ถึง 800% ภายในเวลาเพียง 6 เดือนเท่านั้น โดยลูกค้ามากกว่า 75% เป็นกลุ่มคนอายุต่ำกว่า 30 และเกือบครึ่งของยอดขายมาจากนักดื่มเพศหญิง สถิตินี้ได้รับการพิสูจน์จากรายงานของ iiMedia ในปี 2565 ที่พบว่า มากกว่า 60% ของผู้บริโภคที่ซื้อเครื่องดื่มปลอดแอลกอฮอล์ คือกลุ่มผู้หญิง
“เพราะผู้บริโภคกลุ่มผู้หญิงให้ความสำคัญกับการดูแลร่างกาย และคำนึงถึงความปลอดภัยต่อสุขภาพเป็นหลัก พวกเขาจึงมองหาเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือมีแคลอรี่ต่ำ ก่อนเสมอ” San กล่าวเสริม
แชร์
ก๊อปปี้ลิ้งค์