คลาวด์ สร้างความต่าง ให้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ได้อย่างไร

บทความโดย ไทเลอร์ ชิว ผู้จัดการประจำประเทศไทย อาลีบาบา คลาวด์

ไทเลอร์ ชิว ผู้จัดการประจำประเทศไทย อาลีบาบา คลาวด์

ประเด็นเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainability) มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ต่อการกำหนดคุณค่าของแบรนด์ของแต่ละบริษัท องค์กรต่าง ๆ กำลังพบกับความท้าทายอย่างมากในการออกแบบแผนงานเพื่อกำหนดกลยุทธ์ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมทางเทคโนโลยีนับเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญมากขึ้นต่อความสำเร็จของกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนของบริษัทต่าง ๆ

การเปลี่ยนจากโครงสร้างพื้นฐานไอทีแบบดั้งเดิมไปใช้คลาวด์ ได้รับการยอมรับว่าเป็นมากกว่าเทรนด์การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล และเป็นก้าวสำคัญในการปรับเปลี่ยนการทำงานด้านไอทีขององค์กรให้ “เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการดำเนินงานโดยรวม และส่งผลให้ค่าใช้จ่ายลดลง ข้อมูลจากการวิเคราะห์ของแอคเซนเจอร์* ชี้ให้เห็นว่าองค์กรที่ย้ายการทำงานจากโครงสร้างพื้นฐานไอทีภายในองค์กรไปใช้การประมวลผลบนคลาวด์ สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้โดยเฉลี่ย 84% กล่าวโดยรวมคือ การย้ายไปใช้คลาวด์เป็นเทรนด์ที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน โดยการ์ทเนอร์** ได้คาดการณ์ว่า ภายในปี 2568 องค์กรมากกว่า 85% จะมีหลักเกณฑ์ในการใช้คลาวด์เป็นอันดับต้น ๆ และมากกว่า 95% ของเวิร์กโหลดดิจิทัลใหม่ ๆ จะทำงานอยู่บนแพลตฟอร์มคลาวด์-เนทีฟ

การคาดการณ์ดังกล่าวเป็นการกระตุ้นที่ดี และเป็นการบ่งชี้ถึงทิศทางที่จำเป็นสำหรับองค์กร การส่งเสริมให้เปลี่ยนไปใช้คลาวด์จึงเป็นมาตรการสำคัญมากมาตรการหนึ่งที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน เพิ่มผลประกอบการของบริษัท ยกระดับคุณค่าของแบรนด์ และช่วยให้บริษัทสามารถดำเนินการตามคำมั่นสัญญาในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนไปใช้คลาวด์ยังไม่เพียงพอ เพราะยังมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้โครงสร้างพื้นฐานคลาวด์มีความยั่งยืนมากขึ้น ช่วยให้องค์กรสามารถจัดการการใช้พลังงานได้ดีกว่าเดิม และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ครอบคลุมทุกส่วนของซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจได้มากขึ้น ทั้งนี้จุดเริ่มต้นที่ดีก็คือ การสร้างรายการตรวจสอบปัญหาสำคัญ ๆ ที่จะต้องแก้ไขในขั้นตอนของการวางแผนเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการนำเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องมาใช้เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

การปรับโครงสร้างพื้นฐานไอทีให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ถ้าวลีที่ว่า “Data is the new oil” เป็นเรื่องจริง ศูนย์ข้อมูลก็จัดว่าเป็น “คลังเก็บทรัพยากร” เพราะศูนย์ข้อมูลเป็นส่วนรากฐานที่ใช้เก็บและรับส่งข้อมูลอย่างปลอดภัย และเป็นส่วนสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานของข้อมูลที่ช่วยเสริมความแกร่งให้กับเศรษฐกิจดิจิทัล ดังนั้นเป็นสิ่งจำเป็นมากที่องค์กรต้องย้ายไปใช้ศูนย์ข้อมูลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยถือเป็นหัวใจหลักของกลยุทธ์การดำเนินงานอย่างยั่งยืน รวมถึงการย้ายไปสู่สภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อระบบนิเวศอย่างมาก จะช่วยให้องค์กรบรรลุเป้าหมายของแผนลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้

นอกจากรากฐานที่แข็งแกร่งแล้ว เทคโนโลยีล่าสุดด้านการประมวลผลบนคลาวด์ ทั้งที่เป็นฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ จะช่วยให้ศูนย์ข้อมูลมีประสิทธิภาพโดดเด่น ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันชิปที่ใช้ในเซิร์ฟเวอร์ที่ทรงประสิทธิภาพแต่ละชิปสามารถรองรับทรานซิสเตอร์ได้ถึง 60,000 ล้านตัว แม้ประสิทธิภาพของชิปเหล่านั้นสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานอุตสาหกรรมราว 20% แต่สามารถทำให้อัตราการประหยัดพลังงานที่สำคัญเพิ่มขึ้น 50% นอกจากนี้เซิร์ฟเวอร์ยังได้รับการออกแบบให้รองรับโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์-เนทีฟได้มีประสิทธิภาพกว่า เช่น ซอฟต์แวร์ที่ทำงานอยู่เบื้องหลังแอปพลิเคชันบนคอมพิวเตอร์ที่ไม่ได้ใช้เครื่องเซิร์ฟเวอร์แบบที่จับต้องได้ ช่วยให้สามารถปรับเซิร์ฟเวอร์ให้รองรับการประมวลผลโดยปัญญาประดิษฐ์ (AI) และช่วยให้สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ได้คุ้มค่าใช้จ่ายมากขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น ระบบปฏิบัติการคลาวด์ในปัจจุบันได้รับการเสริมสร้างขีดความสามารถด้วยอัลกอริธึมอัจฉริยะ จึงเป็นการยกระดับให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน อีกทั้งยังสามารถบูรณาการเซิร์ฟเวอร์หลายหมื่นเครื่องทั่วโลกให้ทำงานร่วมกันอย่างราบรื่นในรูปแบบของซูเปอร์คอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่อง ซึ่งมีความสามารถในการประมวลผลแบบเรียลไทม์สูงสุด 3.63 TB ต่อวินาที จึงช่วยปรับปรุงการใช้ทรัพยากรของเซิร์ฟเวอร์ได้ราว 10% ถึง 40% และลดค่าใช้จ่ายได้อย่างมาก ด้วยเหตุนี้ ศูนย์ข้อมูลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงไม่จำเป็นต้องลดทอนประสิทธิภาพ เสถียรภาพ หรือความปลอดภัย เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายการดำเนินงานที่ยั่งยืนมากขึ้น

เพิ่มประสิทธิภาพด้านการใช้พลังงาน

เราสามารถนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในการบริหารการใช้พลังงานในศูนย์ข้อมูล โดยหนึ่งในมาตรการที่สำคัญก็คือ การนำความร้อนจำนวนมากที่ระบายออกจากเครื่องเซิร์ฟเวอร์มาใช้ให้เกิดประโยชน์  นอกจากนี้ ศูนย์ข้อมูลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมบางแห่งยังใช้เทคโนโลยีการระบายความร้อนด้วยน้ำ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายต่ำมาก โดยครอบคลุม 90% ของเวลาดำเนินงานทั้งหมดของศูนย์ข้อมูล วิธีนี้ช่วยลดการใช้พลังงานได้มากกว่า 80% เมื่อเทียบกับการระบายความร้อนโดยใช้อุปกรณ์ที่ตองใช้พลังงานไฟฟ้า เช่น พัดลมและเครื่องปรับอากาศ

อีกหนึ่งนวัตกรรมที่มีประโยชน์ก็คือ เทคโนโลยีการระบายความร้อนแบบ ‘Soaking Server’ ซึ่งเป็นการวางเครื่องเซิร์ฟเวอร์ไว้ในสารหล่อเย็นที่มีคุณสมบัติเป็นฉนวน และความร้อนที่ปล่อยออกมาจะถูกดูดซับโดยตรงด้วยสารหล่อเย็นที่หมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา  ระบบระบายความร้อนดังกล่าวจะช่วยประหยัดพลังงานได้มากกว่า 70% เมื่อเทียบกับระบบระบายความร้อนแบบเก่าที่พึ่งพาอุปกรณ์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า

ศูนย์ข้อมูลอาจใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีฮีทปั๊ม (Heat Pump) ที่ทันสมัย เพื่อจัดส่งความร้อนเข้าสู่เครือข่ายท่อความร้อนที่เชื่อมต่อเข้ากับระบบทำความร้อนภายในอาคารที่พักอาศัยและองค์กรต่าง ๆ

นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีและเครื่องมือด้าน AI และการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบ บริหารจัดการ และคาดการณ์เกี่ยวกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจต่าง ๆ ช่วยให้องค์กรสามารถปรับปรุงการใช้พลังงานในอาคารสถานที่และการดำเนินธุรกิจต่าง ๆ

การลงทุนในเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เราไม่ควรมองข้ามเทคโนโลยีก้าวล้ำที่จะช่วยแก้ไขความท้าทายในวงกว้าง หรือช่วยสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในด้านต่าง ๆ  โดยประการแรก เราควรพิจารณาถึงจุดร่วมระหว่างการทำการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลกับการปรับปรุงด้านพลังงาน โดยอาจมีการนำเทคโนโลยีเสริมที่ช่วยในการจัดการพลังงานหมุนเวียนมาใช้ การตรวจสอบการปล่อยก๊าซคาร์บอน ระบบบันทึกข้อมูลและการตรวจสอบรับรอง เทคโนโลยีสำหรับอาคารอัจฉริยะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ประการที่สอง เราจะต้องพยายามลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในจุดสำคัญ ๆ ในระบบซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางธุรกิจ เช่น การใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีการบินที่มีความยั่งยืน ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญต่อเทคโนโลยีการกำจัดคาร์บอน ซึ่งอาจได้แก่โซลูชันที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ เช่น เทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับการเกษตรที่ยั่งยืนเพื่อส่งเสริมการกักเก็บคาร์บอนในดิน และเทคโนโลยีบลูคาร์บอน (Blue Carbon) รวมถึงเทคโนโลยีคาร์บอนติดลบ (Negative Carbon) เช่น การดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศโดยตรง

องค์กรบางแห่งกำลังเป็นผู้นำในการดำเนินการดังกล่าว และตั้งเป้าที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนใน Scope 3 ภายในปี 2573 องค์กรบางแห่งก็มุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนระบบการประมวลผลบนคลาวด์ด้วยพลังงานสะอาด 100% ภายในปี 2573 การกำหนดเป้าหมายเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอนเหล่านี้นับเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมและควรได้รับการส่งเสริม แต่ขณะเดียวกันเราก็ไม่ควรมองข้ามบทบาทของนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายเหล่านี้ด้วยเช่นกัน

เชิงอรรถ:

* Accenture, 2020, The green behind the cloud

** Gartner Solution Scorecard for Cloud-Integrated laaS and Paas, 2021.

Alibaba Cloud ESG ความยั่งยืน อาลีบาบา คลาวด์ ไทเลอร์ ชิว