บทสัมภาษณ์ หลี่ ชุน ซีอีโอ ของลาซาด้า เกี่ยวกับความสำเร็จในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หลี่ ชุน ซีอีโอ ของลาซาด้า

ในช่วงปีที่ผ่านมา ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ลาซาด้าซึ่งเป็นมาร์เก็ตเพลสร้านค้าแฟล็กชิพออนไลน์ในเครืออาลีบาบา กรุ๊ป ก้าวขึ้นมามีบทบาทผู้นำในภูมิภาค

ในช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาด ทำให้มีการใช้งานแพลตฟอร์มจากลูกค้าและผู้ขายในอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ประเทศไทย ฟิลลิปปินส์ และเวียดนาม ที่ได้รับผลกระทบจากช่องทางออฟไลน์ ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับที่หลี่ ชุน ได้รับการแต่งตั้งเป็นซีอีโอ ของลาซาด้า

 นายหลี่คุ้นเคยกับอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอกาสที่ตามมา เขาเคยดำรงแหน่งประธานกรรมการ ลาซาด้า และซีอีโอของลาซาด้า อินโดนีเซีย

เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เขาถูกส่งตัวไปช่วยเหลือด้านระบบเทคโนโลยีพื้นฐานของโครงการ “Project Voyager” เราได้พูดคุยกับนายหลี่เกี่ยวกับความสำเร็จในภูมิภาคที่กำลังเติบโตอย่างแข็งแกร่งนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและการบริหารจัดการการทำงานของพนักงานในช่วงวิกฤติโควิด

 

 

คุณเข้ามารับตำแหน่งในช่วงที่ไวรัสโคโรน่ากำลังระบาด คุณปรับตัวกับสถานการณ์ดังกล่าวอย่างไร

ในประเทศที่ธุรกิจของลาซาด้ามีการดำเนินงานอยู่ วิกฤติโควิด-19 มีผลกระทบต่อการบริหารจัดการทั้งระบบ พนักงานส่วนใหญ่ทำงานจากที่บ้าน และมีธุรกิจออฟไลน์จำนวนมากที่ได้รับผลกระทบ เราต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้สามารถจัดการกับวิกฤตที่เราไม่เคยเจอมาก่อน และสามารถทำงานร่วมกันเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ทำให้ธุรกิจก้าวต่อไปได้ ไม่ทอดทิ้งผู้ขาย รวมถึงแบรนด์และกิจการต่างๆ  สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความท้าทายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับลาซาด้าคือ การสื่อสารอย่างสม่ำเสมอผ่านทุกช่องทาง เราโชคดีที่มีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มของ Alilang และ DingTalk เราสามารถสื่อสารกับทีมผ่านไลฟ์สตรีม ทั้งการประชุมทาวน์ฮอลล์ ประชุมผู้บริหารและการอภิปรายเกี่ยวกับโปรเจค

เราเห็นความสำคัญของการสื่อสาร key message ไปยังทีมของเรา ที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องและอธิบายที่มาของ key message เหล่านั้น รวมถึงและความสำคัญของการทำงานเป็นทีมเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ร่วมกัน

การบริหารองค์กรที่มีพนักงานมากกว่า 9,000 คน ใน 6 ประเทศ เป็นอย่างไรบ้างในปีนี้

เป็นเรื่องน่ายินดีที่เรา สามารถปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงมากมายในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่น เราได้ดำเนินโครงการที่มีความสำคัญมากอย่าง Apollo จนสำเร็จ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านแพลตฟอร์มด้านเทคโนโลยีโลจิสติกส์ของลาซาด้า โดยทีมงานของเราในหลายพื้นที่ได้ทำงานร่วมกันตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาเพื่อดำเนินโครงการนี้ใน 6 ประเทศตามกำหนดที่วางไว้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีมาก ผมรู้สึกดีใจที่ได้เห็นองค์กรทำงานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลง และดำเนินงานอย่างต่อเนื่องตามแผนที่วางไว้ จนได้รับผลสำเร็จ

ในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ ลาซาด้าช่วยสนับสนุนตลาดในประเทศที่บริษัทดำเนินธุรกิจอยู่อย่างไร

อันที่จริงในช่วงที่เกิดโรคระบาด อีคอมเมิร์ซทั้งหมดล้วนเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากผู้บริโภค ผู้ขาย และแบรนด์ มีการปรับตัวสู่ดิจิทัลมากขึ้น และก็ถือเป็นหน้าที่ของลาซาด้าซึ่งเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำ ที่จะต้องสร้างความมั่นใจว่าอีโคซิสเท็มทั้งระบบดำเนินไปได้ตามปกติ

ในฝั่งผู้บริโภค เราเห็นผู้บริโภคจำนวนมากขึ้นที่หันมาใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เช่น ในสิงคโปร์ เรามี RedMart ที่มีจำนวนการใช้บริการพุ่งสูงขึ้นในช่วงโควิด-19 เราได้ทำงานร่วมกับภาครัฐในการสร้างความมั่นใจว่าสินค้าที่จำเป็นมากที่สุดจะไม่ขาดตลาดในช่วงเวลาที่เกิดโรคระบาด ส่วนในมาเลเซีย เราได้ทำงานร่วมกับเกษตรกรเพื่อนำสินค้าเกษตรสดใหม่มาจำหน่ายให้กับผู้บริโภค

ในฝั่งของผู้ขาย ธุรกิจในฝั่งออฟไลน์ล้วนได้รับผลกระทบ ผู้ขายและแบรนด์เหล่านี้จำนวนมากยังไม่มีการปรับตัวให้พร้อมรับเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างจริงจังในช่วงที่ผ่านมา ลาซาด้าจึงได้ทำงานร่วมกับรัฐบาลในหลายประเทศที่เราดำเนินธุรกิจอยู่เพื่อช่วยเหลือผู้ขายในการขยายไปสู่ธุรกิจดิจิทัล ตัวอย่างเช่น ในอินโดนีเซีย เราไม่เพียงทำงานร่วมกับภาครัฐในการกระตุ้นยอดขายให้กับผู้ขายบนแพลตฟอร์มของเราเท่านั้น แต่ยังช่วยเหลือผู้ขายรายเดิมหลายร้อยราย และผู้ขายรายใหม่หลายพันราย

ลาซาด้ามุ่งเน้นพันธกิจในการส่งเสริมคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ และเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้ก้าวขึ้นมาในตำแหน่งบริหารมากขึ้น ทำไมเรื่องนี้จึงเป็นหนึ่งในสิ่งที่องค์กรให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก

ปัจจุบันเรามีพนักงานเกือบ 9,000 คนใน 50 ประเทศ แน่นอนว่าความหลากหลายของพนักงานเป็นเอกลักษณ์ที่สร้างความได้เปรียบให้กับเราอย่างมาก ผมเชื่ออย่างยิ่งว่าหากต้องการให้อีคอมเมิร์ซประสบความสำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราต้องปรับตัวตามสภาพแวดล้อมในแต่ละพื้นที่ และผู้นำที่ดีที่สุดที่จะทำให้เกิดสิ่งนี้ได้ก็คือคนที่มาจากในพื้นที่เหล่านั้น ที่ผ่านมาลาซาด้าจึงตั้งใจในการฟูมฟักผู้นำเหล่านี้ขึ้นมา เรามีการจ้างพนักงานรุ่นใหม่ที่มีความสามารถจากในพื้นที่ และมอบหมายตำแหน่งที่มีความสำคัญในองค์กรมากขึ้น การฝึกคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ขึ้นมาเป็นผู้นำรุ่นต่อไปเป็นสิ่งที่ลาซาด้าให้ความสำคัญอย่างมาก

ในการแถลงผลประกอบการต่อนักวิเคราะห์ แดเนียล จาง ซีอีโอของอาลีบาบา กล่าวว่าลาซาด้าได้ใช้เทคโนโลยีของอาลีบาบาในการให้บริการผู้บริโภคและพันธมิตร รบกวนอธิบายในส่วนนี้ว่ามีอะไรบ้าง

นับตั้งแต่ควบรวมกับอาลีบาบา เราได้นำความรู้ที่สำคัญมากมายจากฝั่งอาลีบาบาเข้ามาปรับใช้ และสร้างอีคอมเมิร์ซที่เป็นระบบอย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น โอกาสของอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีอยู่อย่างมหาศาล ในขณะที่ลาซาด้ายังอยู่ในขั้นเริ่มต้นเท่านั้น ดังนั้นจึงยังมีช่องทางในการขยายธุรกิจอีกมากมาย แต่ผมเชื่ออย่างยิ่งว่าการจะทำธุรกิจอย่างยั่งยืนและสร้างผลสำเร็จในระยะยาว เราต้องสร้างคุณค่าด้วยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นโลจิสติกส์ เทคโนโลยี หรือในด้านอื่นๆ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาลาซาด้ามีการลงทุนในด้านเทคโนโลยีอย่างมาก และเรายังลงทุนด้านโลจิสติกส์มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง สิ่งเหล่านี้ทำให้ลาซาด้ามีความพร้อมในการแข่งขันอย่างมาก และเราจะดำเนินงานตามแนวทางนี้ไปอย่างต่อเนื่อง

เรายังทำงานร่วมกับหลายทีมของอาลีบาบา เพื่อปรับปรุงและยกระดับระบบ สิ่งเหล่านี้มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการขยายธุรกิจ โดยเฉพาะการขยายฐานผู้ใช้ โดยในเดือนที่ผ่านมาเรามีจำนวนผู้ใช้ประจำต่อเดือนแตะ 100 ล้านคน ส่วนจำนวนผู้ซื้อประจำต่อปีอยู่ที่ 80 ล้านราย

ต้องบอกว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น และเป็นเพียงพื้นฐานของวิสัยทัศน์ไปสู่อนาคต ซึ่งจะเป็นตัวบอกว่าเราจะยกระดับศักยภาพต่างๆ ของเราอย่างไร เพื่อพัฒนาการทำงานของทีมให้ดีขึ้น และช่วยให้ผู้ขายและแบรนด์สร้างการเติบโตทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งการสร้างประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นให้กับลูกค้าของเรา

ลาซาด้า หลี่ชุน โควิด-19